ญี่ปุ่น อุ้ม5พันบริษัท บี้ไทยเข้าร่วมCPTPP

21 มิ.ย. 2563 | 01:52 น.

ทูตญี่ปุ่นออกโรงหนุนไทยร่วมวง CPTPP อุ้ม 5,500 บริษัทจากแดนซามูไรในไทยได้แต้มต่อ การค้า ลงทุนเพิ่ม “วีระกร” ประธาน กมธ.พิจารณาศึกษาผลกระทบจี้เร่งสปีด ก่อนชงสภาผู้แทนเปิด อภิปรายสรุปเรื่องส่งรัฐบาลฟันธงร่วม-ไม่ร่วมเจรจา พาณิชย์เปิด 12ไทม์ไลน์ยันอีกยาวไกล

 

ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่มีประเด็นถกเถียงจากความเห็นต่างของภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนได้-เสียกลายเป็นความขัดแย้งในสังคม
ล่าสุดได้โยนเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ขณะที่ญี่ปุ่นคู่ค้าอันดับต้นๆ และผู้ลงทุนอันดับ 1 ในไทยได้ออกมาสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วม CPTPP

นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบ
จากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 นายนะชิตะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เข้าพบคณะกรรมาธิการฯเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้นำร่องเข้าร่วมความตกลงไปแล้วและระบุว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยที่เกษตรกรรายย่อยของญี่ปุ่นไม่ได้รับผล
กระทบใด ๆ และมีความพอใจกับการเข้าร่วม CPTPP

 

ญี่ปุ่นหนุนไทยร่วมวง

ในโอกาสนี้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ได้สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยชี้ว่าจะทำให้ตลาดการค้า การลงทุน และด้านอื่นๆ ของไทยกว้างไกลขึ้น และมีแต้มต่อจากสิทธิประโยชน์ความตกลงภายในกลุ่ม และหากไทยเข้าร่วมบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทยกว่า 5,500 บริษัทก็จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย และจะสร้างโอกาสให้นักลงทุนญี่ปุ่น และจากชาติอื่น ๆ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดีจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะใหญ่เพื่อพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ใน 30 ข้อบทของความตกลงในภาพกว้าง และตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาอีก 3 คณะย่อย (คณะอนุกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์และการเกษตร, คณะอนุกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขและยา และคณะอนุกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน)มีกรอบระยะเวลาพิจารณาศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563

“คณะอนุกรรมาธิการฯจะประชุมวันจันทร์ถึงศุกร์ โดยจะประชุมร่วมกับคณะกรรมา
ธิการคณะใหญ่ทุกวันอังคารและวันพุธ เพื่อมาอัพเดตความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ซึ่งในการพิจารณาศึกษาข้อดี ข้อเสีย ได้ให้คณะกรรมาธิการและที่ปรึกษาซึ่งมาจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการนำข้อมูลที่เป็นจริงและถูกต้องมานำเสนอความเห็นต่อที่ประชุมได้อย่างเต็มที่”

 

ชงสภาฯเปิดอภิปราย

ปัจจุบันข้อมูลหลายเรื่องของ ความตกลง CPTPP ได้ถูกบิดเบือนหรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากนำข้อมูลเก่าตั้งแต่สมัยสหรัฐฯยังเป็นสมาชิก TPP (ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็น CPTPP) มานำเสนอ เวลานี้สหรัฐฯได้ถอนตัวออกจาก TPP ไปแล้ว แต่ก็ได้สร้างความตื่นกลัว ดังนั้นจึงต้องนำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกัน ทั้งนี้หลังจาก กมธ.พิจารณาศึกษาเรื่อง CPTPP แล้วเสร็จตามกรอบเวลาในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 จะนำผลการพิจารณาศึกษาเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อเปิดอภิปราย และขอมติที่ประชุมว่าเห็นสมควรจะส่งเรื่องผลการพิจารณาเรื่อง CPTPP ของคณะกรรมาธิการฯ ไปให้รัฐบาลพิจารณาหรือไม่ หากเห็นด้วยทางกรรมาธิการฯ จะทำข้อสรุปผลได้-ผลเสีย ข้อกังวลต่างๆ รวมถึงจะให้ข้อเสนอแนะว่าสมควรหรือไม่สมควรเข้าร่วมเจรจา แต่สุดท้ายอำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่


ญี่ปุ่น อุ้ม5พันบริษัท  บี้ไทยเข้าร่วมCPTPP

ไทม์ไลน์CPTPP อีกไกล

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ปัจจุบันกระบวนการในเรื่อง CPTPP ของไทยยังอยู่ในขั้นที่ 3 คือการพิจารณาศึกษาและรวบรวมความเห็นเพื่อ
เสนอ ครม. จาก 12 ขั้นตอนของการเข้าเป็นภาคีความตกลง ซึ่งเส้นทางยังอยู่อีกยาวไกล สมมุติหาก ครม.พิจารณาอนุมัติตัดสินใจให้ไทยเข้าสู่กระบวนการขอเจรจากับสมาชิก CPTPP ก็ยังไม่แน่ว่าสมาชิก CPTPP จะรับไทยหรือสนใจไทยหรือไม่ แต่หากเขาสนใจรับไทยเข้าสู่กระบวนการเจรจาข้อผูกพัน ต่อรองข้อยกเว้น และความยืดหยุ่น รวมถึงระยะเวลาการปรับตัวที่เหมาะสมแล้วไม่เป็นที่พอใจ ไทยก็สามารถถอนตัวได้ แต่หากผลเจรจาเป็นที่พอใจก็ต้องนำสู่ขั้นตอนต่างๆ ต่อไป จะใช้เวลาแค่ไหน เร็วหรือช้าก็ขึ้นกับความยากง่ายในการเจรจาต่อรองและตกลงกัน

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คำถามสำคัญคือ ไทยลงทุนมากมายเรื่องเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ คิดว่าเพียงมอบสิทธิพิเศษทางภาษี กรรมสิทธิ์ที่ดิน และอื่นๆ แล้วจะได้ผล แต่ถ้าไทยไม่มีเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มเติมเช่นกับสหภาพยุโรป(อียู) ไม่ร่วม CPTPP แล้วเขาจะมาลงทุนหรือ?

ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สนใจลงทุนไทยเพราะรัฐบาลประกาศหลายครั้งว่าจะทำเอฟทีเอกับอียู กับอังกฤษ และเข้าร่วม CPTPP ซึ่งก่อนและหลังโควิด-19 ตลาดจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่นักลงทุนมองว่าจะไปลงทุนประเทศใด ปัจจุบันเทียบไทยกับเวียดนามที่มีความตกลงเอฟทีเอแล้ว 13 ฉบับเท่ากัน แต่จำนวนประเทศหรือตลาดครอบคลุมไม่เท่ากัน โดยไทยมีเอฟทีเอแล้วกับ 18 ประเทศ ขณะที่เวียดนามมีถึง 53 ประเทศ

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,585 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563