"คมนาคม" ผุดมาตรการลดระยะห่าง หนุนผู้ใช้บริการเดินทางร่วมกัน เริ่ม 1 ก.ค.นี้

18 มิ.ย. 2563 | 10:21 น.

  "คมนาคม" เตรียมคลายล็อคมาตรการลดระยะห่าง เร่ง รฟม.ออกแบบสติ๊กเกอร์ กรณีประชาชนที่เดินทางมาด้วยกัน-เป็นครอบครัว หวังใช้บริการระบบรถไฟฟ้าไม่เกิน 50 นาที คาดมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค.นี้

 

 

 

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานกิจกรรมรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และแจกหน้ากากผ้าให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที) สุขุมวิท ว่า จากการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 ระยะที่ 4 ถึงแม้สถานการณ์มีแนวโน้มไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว แต่รัฐบาลยังประกาศให้คงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในรอบที่ 2

 

สำหรับภาคขนส่งสาธารณะที่มีระยะเวลาเดินทางมากกว่า 50 นาทีขึ้นไป ยังคงให้เว้นระยะห่างการใช้บริการ อาทิ รถทัวร์โดยสาร และรถไฟ เป็นต้น ส่วนรถไฟฟ้าที่มีการใช้บริการไม่เกิน 50 นาที สามารถนั่งติดกันได้ ในกรณีที่เดินทางมาด้วยกัน หรือเป็นครอบครัว โดยสั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมออกแบบแนวทางเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าวให้ชัดเจนและประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนให้เข้าใจตรงกันต่อไป

 

"ส่วนการออกแบบนั้นต้องการใช้รูปแบบสติ๊กเกอร์ที่เป็นสัญลักษณ์ชัดเจน สำหรับประชาชนที่เดินทางมาด้วยกันหรือเป็นครอบครัว เพื่อใช้บริการระบบรถไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้มาตรการดังกล่าว ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ซึ่งมาตรการที่จัดทำขึ้นมานี้ ต้องการให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ และลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการอีกด้วย"

 

 

 

 

นอกจากนี้ในส่วนของแผนการเยียวยาผู้ประกอบการตามมาตรการที่เข้าข่ายลักษณะแผนงานโครงการตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยได้ลงนามเห็นชอบหลักการเยียวยาส่วนต่างรายได้ให้ผู้ประกอบการด้านขนส่งทางบกไปแล้ว ประมาณ 7,697 ล้านบาท ซึ่งแต่ละหน่วยงานต้องเร่งส่งสรุปมายังกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะสรุปเสนอข้อมูลทั้งหมดไปที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และเมื่อผ่านการพิจารณาจะเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

 

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม ได้มีการเสนอโครงการเพื่อขอใช้เงินกู้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 โครงการ ได้แก่ อุปกรณ์ความปลอดภัยทางถนน หรือแบริเออร์ยางพารา ของกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวง วงเงิน 40,000 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตร-ท่องเที่ยว วงเงิน 90,000 ล้านบาท