วิกฤติโควิดโอกาสทองของยานยนต์ไฟฟ้า

18 มิ.ย. 2563 | 07:32 น.

เอกชน - EVAT ชี้ "ยานยนต์ไฟฟ้า"จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มาแรงหลังวิกฤติ"โควิด-19" ด้านบีโอไอ รับลูกพร้อมส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการ

เมื่อเร็วๆนี้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้จัดงาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK (ASE2020) งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) จัดสัมมนาทางออนไลน์ ครั้งที่ 2 (ASE Webinar Series #2) ในหัวข้อ “ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ต่อกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดในภูมิภาคเอเชีย” (Impact of Covid-19 Outbreak on Electric Vehicle Market in Asia) 


นายกฤษฎา อุตตโมทย์ อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เปิดเผยว่า แม้โควิด-19จะส่งผลกระทบให้บางโรงงานผู้ผลิตต้องหยุดไปชั่วคราว แต่ผู้จำหน่าย ตัวแทน และศูนย์บริการของแต่ละแบรนด์ยังคงเปิดให้บริการในประเทศไทย และอีกไม่นานจากการที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ อุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งโรงงานผลิตรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าจะกลับมาเปิดอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะมาแรงหลังวิกฤตโควิดครั้งนี้ 


"แม้โควิด -19 จะส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลง แต่คนได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวสู่อนาคต ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ที่ต้องใส่ใจในเรื่องของอากาศ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนมากขึ้น"


ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 250,000 คัน รถเมล์ไฟฟ้า 3,000 คันและจักรยานยนต์ไฟฟ้า 53,000 คันในปี 2568  ซึ่งหากเป็นช่วงเวลาปกติคงได้เห็นการเดินหน้าของโครงการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดหยุดชะงักชั่วคราว เพื่อธุรกิจจะรักษาสภาพคล่องไว้  


"จากมุมมองของสมาคมฯ เราอาจเห็นความล่าช้าในการลงทุนโดยผู้ประกอบการไปบ้าง แต่สมาคมยังคงมองในแง่ดีว่าหากมีมาตรการในการสนับสนุนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลังจากนี้ เพราะอย่างไรก็ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะยังคงดำเนินตามแผนในการลด CO2 Emission ลดฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายในการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว  20-25% จากระดับการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าช่วยตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง

ด้านนางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า แม้จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลไทยยังคงให้การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้สิทธิพิเศษทางภาษีได้สูงสุดถึง 8 ปี 


ปัจจุบันมีโครงการที่ขอเข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากับบีโอไอแล้วกว่า 30 โครงการ โดยโครงการส่วนใหญ่ได้เดินหน้าแล้ว และที่จะเริ่มดำเนินการในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งยังคงเป้าหมายเดิมไว้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแผนไปจากเดิมแม้จะมีโควิด-19 

วิกฤติโควิดโอกาสทองของยานยนต์ไฟฟ้า
“แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 บีโอไอยังคงเดินหน้าให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านทางบริการออนไลน์ ซึ่งมีทั้งบริการจับคู่ธุรกิจ บริการสัมมนาและอบรมออนไลน์ ผ่านโครงการ BUILD E-Linkage Business Matching Online และยังคงยืนยันที่จะจัดงาน SUBCON Thailand งานแสดงอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตเพื่อการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและงานจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง”

นาย อัลเลน ทอม อับราฮัม ผู้ช่วยบรรณาธิการ BloombergNEF  ได้นำเสนอผลการศึกษาถึงแนวโน้มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ภายหลังได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ไว้ว่า การระบาดของโควิด-19ได้ส่งผลต่อทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จากการศึกษามองว่าโควิดจะส่งผลกระทบด้านลบในระยะสั้น  ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ทำให้ยอดขายลดลง แต่หากมองระยะยาว  การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักๆ ไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยเรื่องการผันแปรของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่เป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศที่ยังคงให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน  และยังคงให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม     


"ผลจากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้ในวันนี้ราคาแบตเตอรี่สำหรับใช้ขับเคลื่อนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในแต่ละประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าแบบ 2 ล้อ ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับเชิงพาณิชย์และยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อบริการสาธารณะ"

วิกฤติโควิดโอกาสทองของยานยนต์ไฟฟ้า
โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าหลังจากปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด สัดส่วนการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกจะกลับมาเพิ่มขึ้น และจะมีสัดส่วนถึง 58% ในปี 2583 และสัดส่วนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในโลกก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็น 31% ในปี 2583 นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่าภูมิภาคที่จะมีการเติบโตของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างชัดเจน คือ อาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์