“สนพ.” ชี้ "ราคาน้ำมัน” ดิบมีแนวโน้มทรงตัว

18 มิ.ย. 2563 | 03:00 น.

“สนพ.” ชี้ “ราคาน้ำมัน” ดิบมีแนวโน้มทรงตัว จากน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังมีปริมาณสูง และความกังวลการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 รอบสอง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ “สนพ.” คาดการณ์ "ราคาน้ำมัน" ดิบมีแนวโน้มทรงตัว แม้การผลิตมีแนวโน้มปรับตัวลง หลังกลุ่มโอเปกพลัสตกลงขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปเดือนกรกฎาคม 63 และเพิ่มความเข้มงวดให้สมาชิกในการปรับลดการผลิต อย่างไรก็ตามมีปัจจัยกดดันจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะเพิ่มกำลังการผลิตหลังราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง สัปดาห์ล่าสุดปรับเพิ่มขึ้น 5.7 ล้านบาร์เรล

ประกอบกับองค์การอนามัยโลก ออกมาแถลงเหตุการณ์พบเชื้อไวรัส "โควิด-19" ในกรุงปักกิ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง หลังพบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย การมีผู้ติดเชื้อในสหรัฐที่พุ่งสูงมากขึ้นในกว่า 20 รัฐ ความกังวลว่าจะทำให้เกิดการระบาดรอบ 2 ส่วนปริมาณการใช้ไบโอดีเซลของไทย ได้เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษถาคม 6.75% มาอยู่ที่ 5.52 ล้านลิตรต่อวัน

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันโลกช่วงวันที่ 8 -14 มิถุนายน 2563 นั้น  ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 40.73 และ 37.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.46 และ 0.57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดเชื่อมั่นว่าการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปจนถึงสิ้นเดือนกกรฏาคม 63 จะช่วยชดเชยอุปสงค์น้ำมันที่หายไป ส่งผลให้ตลาดน้ำมันเข้าสู่สมดุลได้เร็วขึ้น

“สนพ.” ชี้ "ราคาน้ำมัน” ดิบมีแนวโน้มทรงตัว

ขณะที่ไนจีเรียมีแผนลดการผลิตน้ำมันดิบลง 40,000 – 45,000 บาร์เรล/วัน ในกลางเดือนกรกฎาคคม 63 ตามข้อตกลงของกลุ่มโอเปกพลัส (โควตาอยู่ที่ระดับ 100,000 บาร์เรล/วัน) ส่วนปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียปรับลดลงจากการถูกปิดแหล่งผลิตน้ำมันโดยกองกำลังติดอาวุธ หลังจากเพิ่งกลับมาผลิตที่ 300,000บาร์เรล/วัน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 63 ซึ่งได้หยุดดำเนินการราว 5 เดือน

ด้านรัฐบาลสหรัฐฯ ซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 126,000 บาร์เรล สำหรับเก็บเข้าคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตภายในประเทศ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน คาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบ จะปรับตัวลดลงจาก 12.2 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 62 สู่ระดับ 11.6 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 63

ส่วนราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย  ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 45.07 และ 42.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.90 และ 3.22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  โดยความต้องการใช้น้ำมันในจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง  มีรายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 10 มิถุนายน 63 ลดลง 0.46 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 15.35 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ส่วนรายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สิ้นสุด 6 มิถุนายน 63 ลดลง 0.71 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.95 ล้านบาร์เรล และรายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในยุโรป เดือน พ.ค. 63 ลดลง 2.9% อยู่ที่ 118.92 ล้านบาร์เรล

“สนพ.” ชี้ "ราคาน้ำมัน” ดิบมีแนวโน้มทรงตัว

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 46.15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยอุปสงค์น้ำมันดีเซลในมาเลเซีย พม่า และเวียดนาม ปรับตัวดีขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง ส่วนอุปทานน้ำมันดีเซลลดลง เนื่องจากโรงกลั่นหลายอยู่ในช่วงลดกำลังการผลิตหรือปิดซ่อมบำรุงประจำปี มีรายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิ้นสุด 8 มิถุนายน 63 ลดลง 0.98 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 5.01 ล้านบาร์เรล

สำหรับ "ค่าเงินบาท" ของไทยนั้น  แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.40 บาท/เหรียญสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.3898 บาท/เหรียญสหรัฐ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.47 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.46 บาท/ลิตร) ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.29 บาท/ลิตร และค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.61 บาท/ลิตร

“ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 14 มิถุนายน 63 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 56,802 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 22,438 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 34,364 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน 40,735 ล้านบาท บัญชี LPG  -6,371  ล้านบาท”