กขค. ลุยต้านผูกขาดการค้า โชว์ผลงานดีวันดีคืน

19 มิ.ย. 2563 | 05:45 น.

กขค. ลุยต้านผูกขาดทางการค้า ตีกันรายใหญ่รวมหัวเอาเปรียบรายเล็ก โชว์รูปธรรมผลงานดีวันดีคืน

สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้แยกตัวออกจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 ในฐานะเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใด มีภารกิจสำคัญในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพื่อป้องกันการผูกขาด การเอารัดเอาเปรียบทางธุรกิจ และสร้างความเป็นธรรมทางการค้าให้กับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ไม่ให้ถูกรายใหญ่เอาเปรียบ และผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการ

 

เสือกระดาษเป็นเสือติดปีก

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวว่า นอกจากภารกิจข้างต้นแล้ว สขค.ยังส่งเสริมให้มีการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค สะดวก รวดเร็ว เพื่อสนับสนุนการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการค้าและการลงทุนของประเทศ 

ก่อนหน้าที่ สขค. จะเป็นองค์กรอิสระ เคยถูกมองว่าเป็นหน่วยงานที่ไม่สามารถดูแลและรักษาความเป็นธรรมทางการค้าได้อย่างแท้จริง เพราะปัญหาทางการค้าที่เกิดขึ้น ได้รับการแก้ไขที่ล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้เกิดผลกระทบทางธุรกิจ แต่ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขและการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ ทำได้รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ ทำให้ สขค. เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเต็ม และสามารถกำกับดูแลภาคธุรกิจไม่ให้มีการเอาเปรียบทางธุรกิจได้ 

ทั้งนี้ได้เดินหน้าการทำงานอย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำแนวทางพิจารณาการปฏิบัติการค้าที่เป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิต หรือผู้จำหน่าย พ.ศ.2562 หรือไกด์ไลน์ค้าปลีก ซึ่งขณะนี้ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งได้ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้า จากนั้นได้มีการจัดทำแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ หรือไกด์ไลน์แฟรนไชส์ เพื่อดูแลการประกอบธุรกิจแฟรนไชน์ ระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ 

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นร่างประกาศคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าทางเว็บไซต์ www.otcc.or.th เรื่องหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ. .... เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกัน โดยหลักเกณฑ์สำคัญของผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดคือผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือ ผู้ประกอบการธุรกิจ 3 รายแรกที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป


กขค. ลุยต้านผูกขาดการค้า  โชว์ผลงานดีวันดีคืน

ซีพียื่นรวมโลตัสจ่อคิว

นอกจากนี้ยังได้ติดตามพฤติกรรมการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น กรณีเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี)ซื้อกิจการเทสโก้โลตัส ที่จะมีผลต่อธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในประเทศไทย ซึ่งอาจเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งต้องขออนุญาตรวมธุรกิจตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ล่าสุดทาง สขค.อยู่ระหว่างการรอการยื่นเอกสารการขออนุญาตรวมธุรกิจจากทางบริษัท เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.) ว่าจะพิจารณาเห็นควรอนุญาต หรือไม่อนุญาต หรืออนุญาตแบบมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะพิจารณาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทางบริษัทมีการยื่นข้อมูลเอกสารมาและมีความพร้อมของเอกสาร 100% และหากมีความจำเป็นสามารถขยายเวลาพิจารณาได้อีก 15 วัน ซึ่งล่าสุดทางซีพีได้มาหารือกับสขค.แล้ว คาดจะยื่นเรื่องได้ใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ 

  “ทางคณะกรรมการแข่งขันฯ ยังอยู่ระหว่างเร่งรัดการตรวจสอบพฤติกรรมทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจรับส่งอาหารถึงบ้าน (ฟู้ด ดีลิเวอรี่) ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบร้านอาหาร หรือการขัดขวางการทำธุรกิจของรายอื่น  ขณะเดียวกัน ได้เร่งพิจารณาประเด็นข้อร้องเรียนการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่มีเรื่องเข้ามายัง สขค. โดยเน้นการพิจารณาอย่างรวดเร็ว และให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า” 

สำหรับสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าฯ จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560  มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ 5 คน ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมดจำนวน 7 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ติดต่อกันไม่เกิน 2 วาระ และมีเลขาธิการ กขค. เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563