โควิด-19 ชัยชนะที่ยังต้องระวัง

18 มิ.ย. 2563 | 03:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3584 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-24 มิ.ย.63

โควิด-19

ชัยชนะที่ยังต้องระวัง
 

     สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในประเทศที่เบาบางลง โดยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มา 2 วันติดต่อกันและก่อนหน้านี้ 2 สัปดาห์แทบไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ แต่เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งตรวจพบในสถานที่กักกันของรัฐ ส่งผลให้รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศบค.) ประกาศผ่อนคลายการล็อกดาวน์รอบ 4 ยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว ให้ธุรกิจ ห้างร้าน กลับมาเปิดได้เต็มที่ เว้นบางกิจการ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

     สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่ซาลงไปอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นถึงมาตรการควบคุมดูแลการระบาดของไทย ระบบการสาธารณสุข ศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนความร่วมไม้ร่วมมือจากประชาชนที่ร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ ในการก้าวให้พ้นวิกฤติโควิด ซึ่งไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติในการควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี

     ด้านการฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 โดยองค์กร Global COVID-19 หรือ (GCI) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ที่ใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ได้จัดคะแนนดัชนีและจัดอันดับ 184 ประเทศว่าแต่ละประเทศได้รับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ได้ดีมากน้อยเพียงใด ปรากฏว่าไทยติดอันดับเป็นประเทศที่ดีที่สุดในการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศออสเตรเลีย จาก 184 ประเทศทั่วโลก

     สถานการณ์หลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงต้องนำประเทศเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง หลังจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงันลงและก่อให้ความสูญเสียจำนวนมาก จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องปิดสวิตช์ชั่วคราว แม้รัฐบาลใช้เงินในการเยียวยาเฉพาะหน้ารายละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3เดือน พร้อมเยียวยากลุ่มเกษตรกรในอัตราเดียวกัน แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจลงลึกมากกว่าที่ประเมินกันในเบื้องต้น โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับด้านการท่องเที่ยวที่ทรุดตัวลงอย่างหนักและยังมองไม่เห็นจุดฟื้นตัว

     อย่างไรก็ดีแม้ความจำเป็นในการฟื้นฟูสูงมาก แต่การการระมัดระวังการระบาดของโรครอบ 2 หรือการกลับมาระบาดใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท การดำเนินการฟื้นฟูจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป การออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เป็นมาตรการและช่วงเวลาเหมาะสมที่ต้องดำเนินการ แม้มิอาจทดแทนการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ ก็มีความจำเป็น แต่การจะไปเปิดประเทศหรือจับคู่ท่องเที่ยวนั้นยังเร็วเกินไป ซึ่งการตัดสินใจของรัฐบาล ต้องรับฟังข้อมูลและให้น้ำหนักกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เป็นด้านหลัก เพื่อป้องกันมิให้สิ่งที่ดำเนินการมาอย่างดีในการควบคุมโรคโควิด-19 ต้องกลับไปสู่จุดศูนย์