“สสว.” หนุนเศรษฐกิจฐานรากปั้น “สหกรณ์” 100 แห่งสู่ยุค 4.0

17 มิ.ย. 2563 | 06:00 น.

“สสว.” หนุนเศรษฐกิจฐานรากปั้น “สหกรณ์” 100 แห่งสู่ยุค 4.0 นำเทคโนโลยียกระดับธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาทต่อราย

สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  หรือ “สสว.” ได้จัดทำโครงการพัฒนา "เศรษฐกิจฐานราก" ยุค 4.0 โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจฐานราก โดยเฉพาะกลุ่ม "สหกรณ์" ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการรวมกลุ่มผู้ประกอบการฐานรากใน แต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีความเข้มแข็งและสามารถขยายโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น โดยมุ่งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนการดำเนินกิจการ

การขยายช่องทางการตลาด การให้ความรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และการสนับสนุนจากหน่วยงาน Service Provider ต่าง ๆ รวมถึงการส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าวินิจฉัยและให้คำปรึกษา เชิงลึก  โดยโครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่สหกรณ์ภาคการเกษตร ภาคการค้า และภาคบริการทั่วประเทศ  ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาสหกรณ์ให้ได้ 100 แห่ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการของสหกรณ์ได้ไม่น้อยกว่า 50 ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาเครือข่ายการให้บริการส่งเสริมเอสเอ็มอี 2 เครือข่าย

สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ภายในปี 2563 หรือเฉลี่ยสหกรณ์ละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท

“สสว.” หนุนเศรษฐกิจฐานรากปั้น “สหกรณ์” 100 แห่งสู่ยุค 4.0
              นายวีระพงศ์  มาลัย ผู้อํานวยการ สสว.  เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 – ก.ย. 2563 โดยได้เปิดรับสมัครสหกรณ์ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ จากนั้นได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปวินิจฉัยสำรวจความต้องการ และจัดทำแผนพัฒนาสหกรณ์ โดยจะนำแผนที่ได้ไปจัดทำโปรแกรมฝึกอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจยุค 4.0 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการบริการของสหกรณ์

รวมทั้งการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจยุค 4.0 รวมทั้งให้ที่ปรึกษาลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำ พัฒนาและติดตามการปฏิบัติงานของสหกรณ์ จากนั้นจะนำผลสรุปที่ได้จัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อเป็นต้นแบบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อไป

“สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการวินิจฉัยธุรกิจในเชิงลึก และการฝึกอบรมด้านความรู้ และภาคปฏิบัติ ตลอดจนการศึกษาดูงาน ขยายความร่วมมือกับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด จนนำไปสู่การปรับปรุงกิจการทั้งด้านการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการบริการ ตลอดจนการเจาะตลาดใหม่ ๆ ขยายไปสู่การค้าออนไลน์ เพื่อเปิดไปสู่ตลาดระดับโลก พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่ยุค 4.0 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจการในอนาคต”

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า จากข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายน 63 ประเทศไทยมีจำนวนสหกรณ์ภาคการเกษตรทั้งสิ้น 4,468 แห่ง มีสมาชิกมากกว่า 6 ล้านคน  คิดเป็นสัดส่วน 55.65% ของสหกรณ์ทั้งประเทศ มีสหกรณ์ร้านค้าและบริการ 1,463 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 18.22% รวมจำนวนสหกรณ์ภาคการเกษตร ภาคการค้าและบริการ จะมีจำนวนทั้งสิ้น 5,931 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 73.87% ของสหกรณ์ทั้งหมด ซึ่งสหกรณ์ที่ผ่านโครงการนี้ จะเป็นต้นแบบในการศึกษาเรียนรู้ให้กับสหกรณ์ต่างๆ ต่อไป หากสามารถยกระดับสหกรณ์ให้เข้มแข็ง ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนฐานรากให้เข็มแข็ง และทำให้เศรษฐกิจของชาติมั่นคงได้ในอนาคต

“การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่สำคัญของรัฐบาล โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจฐานรากมี จำนวนมาก ดังนั้นหากกลุ่มธุรกิจฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มกำลังซื้อส่วนใหญ่ของ ประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จะส่งผลถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจหลักของไทย ทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจฐานรากประสบปัญหาและ อุปสรรค จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยี และช่องทางการตลาดการค้าออนไลน์ในรูปแบบใหม่ ๆ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจฐานรากก้าวตามไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน