“จีน”เฮ สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวในเชิงบวก

17 มิ.ย. 2563 | 03:53 น.

จีนได้รับสัญญาณเชิงบวกทางเศรษฐกิจฟื้นตัว จากตัวชี้วัดในเดือน พ.ค.63 เกิดการฟื้นฟูการผลิต การกลับสู่ตำแหน่งงาน การกลับมาเปิดธุรกิจ

 

วันนี้( 17 มิ.ย.63) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจจีน จากการฟื้นตัวโดยรวมของตัวชี้วัดที่สำคัญในเดือน พ.ค.63 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

1. สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน แถลงเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.63 ว่า ในเดือนพ.ค.63 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจจีน จากการฟื้นฟูการผลิต การกลับสู่ตำแหน่งงาน การกลับมาเปิดธุรกิจ และการเปิดตลาดหลังโรคระบาดในจีน โดยได้เดินหน้าไปอย่างมั่นคง และการดำเนินการของเศรษฐกิจจีนรักษาแนวโน้มการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ

 

๑.๑ ในด้านการผลิต ยอดมูลค่าเพิ่มด้านอุตสาหกรรมระดับมาตรฐานและสูงกว่าของจีนนั้น เติบโตอยู่ที่ ๔.๔% อัตราการเติบโตสูงกว่าเดือน เม.ย.๖๓  ๐.๕% ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรและอุตสาหกรรมการผลิตที่อาศัยเทคโนโลยีระดับสูงเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว โดยในเดือน พ.ค.๖๓ ดัชนีการผลิตของอุตสาหกรรมการบริการขยายตัว ๑% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตัวเลขในเดือน เม.ย.๖๓ ลดลง ๔.๕% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว

 

๑.๒ ในด้านอุปสงค์ช่วงเดือน พ.ค.๖๓ ที่ผ่านมา ยอดการค้าปลีกของสิ่งของอุปโภคบริโภคลดลง ๒.๘% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว โดยอัตราเติบโตเป็นลบ ลดลง ๔.๗% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และในช่วง ๕ เดือนแรกของปีนี้ ยอดการลงทุนต่อสินทรัพย์ถาวรหดตัวลง ๖.๓% แต่อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนิวไฮเทคกับการลงทุนต่อกิจการสังคมเปลี่ยนจากลบมาเป็นบวก

 

๑.๓ ในด้านการมีงานทำ เดือน พ.ค.๖๓ อัตราการว่างงานทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศอยู่ที่ระดับ ๕.๙% ลดลง ๐.๑% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

                                                                  “จีน”เฮ สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวในเชิงบวก
 

๒. ข้อสังเกตต่อเศรษฐกิจของจีน

๒.๑ ตัวเลขในด้านการผลิต ด้านอุปสงค์ และด้านการมีงานทำดังกล่าว ล้วนแสดงให้เห็นว่า การฟื้นการผลิตและการทำงานของจีนกำลังเร่งอัตราเร็วขึ้น ซึ่งมีผลต่อความรู้สึกโดยตรงของผู้คน ทำให้ในตัวเมืองเริ่มมีรถติด รวมทั้งผู้คนออกไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารกันมากขึ้น และชีวิตความเป็นอยู่ค่อยๆ ฟื้นกลับเป็นปกติแล้ว โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น เกิดจากความต้องการในตลาดที่มีพลัง การพัฒนาอุตสาหกรรม การขยายตัวของเมือง รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากฝ่ายต่างๆ ดังนั้น ประสบการณ์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนย่อมจะเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ได้ จากการที่จีนได้ก้าวพ้นผลกระทบของโควิด-๑๙ เป็นประเทศแรก

 

๒.๒ นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) เคยกล่าวเน้นในการประชุมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน จีนกำลังเร่งฟื้นฟูการผลิตและการทำงาน ซึ่งไม่เพียงแต่พลิกจากวิกฤตไปสู่การฟื้นฟูเท่านั้น หากยังแสดงถึงการมีความรู้ ความเป็นมืออาชีพ และประสบการณ์ที่สมบูรณ์แบบแก่ประเทศอื่น จากสัดส่วนของเศรษฐกิจจีนที่มีอยู่ในเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ผลการพัฒนาเศรษฐกิจในปี ๒๐๒๐ จะมีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งประเทศจีนและทั่วโลก

 

บทสรุป แม้ว่าจะมีรายงานชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ จะทำให้เศรษฐกิจของจีนลดลง ๖.๘% เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) และเป็นการเติบโตติดลบรายไตรมาสครั้งแรกนับตั้งแต่การจัดตั้งระบบบัญชี GDP รายไตรมาส เมื่อปี ๑๙๙๒ (พ.ศ.๒๕๓๕)

 

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคอยู่ภายใต้การควบคุม ในขณะที่การผลิตของจีนยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งหลังจากไตรมาสที่สองเศรษฐกิจของจีนจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลล่าสุดได้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังฟื้นตัว และคาดว่าจะยังคงรักษาแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อีกครั้ง