สหรัฐไฟเขียวบริษัทมะกันร่วมงาน "หัวเว่ย" กำหนดมาตรฐาน 5G

17 มิ.ย. 2563 | 02:16 น.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเปิดเผยกฎเกณฑ์ใหม่ ที่จะอนุญาตให้บริษัทอเมริกันสามารถร่วมงานกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ของจีนได้ ในการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสื่อสารไร้สายระบบ 5G และเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอื่น ๆ แม้ยังคงมีข้อจำกัดบางอย่างในการทำธุรกิจกับหัวเว่ยก็ตาม

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กฎเกณฑ์ดังกล่าวได้รับการอนุมัติ และส่งให้กับทางสำนักงาน Federal Register ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐในการเผยแพร่กฎเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งได้มีการโพสต์บนเว็บไซต์เมื่อวานนี้ และจะเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดี (18 มิ.ย.)

สหรัฐไฟเขียวบริษัทมะกันร่วมงาน "หัวเว่ย" กำหนดมาตรฐาน 5G

กฎเกณฑ์ใหม่นี้ จะแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ยในรายการ "entity listing" ซึ่งจำกัดการขายสินค้าและเทคโนโลยีของสหรัฐให้กับหัวเว่ย โดยสหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยไว้ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562 ด้วยข้อกล่าวหาว่าหัวเว่ยเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ

 

ทั้งนี้ การแก้ไขกฎดังกล่าวจะอนุญาตให้หัวเว่ยและบริษัทในเครือของหัวเว่ยสามารถใช้เทคโนโลยีบางอย่างของสหรัฐได้ หากช่วยในการปรับปรุง หรือพัฒนามาตรฐานของระบบ 5G ในองค์กรกำหนดมาตรฐาน

สหรัฐไฟเขียวบริษัทมะกันร่วมงาน "หัวเว่ย" กำหนดมาตรฐาน 5G

เจ้าหน้าที่ด้านอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมและเจ้าหน้าที่รัฐบาลระบุว่า การขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยนั้นส่งผลกระทบต่อการกำหนดมาตรฐานระบบ 5G

 

ขณะที่บรรดาบริษัทสหรัฐยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะสามารถแบ่งปันกับทางหัวเว่ยนั้น วิศวกรของสหรัฐบางรายไม่ได้เข้าร่วมในการกำหนดมาตรฐาน ขณะที่ทางหัวเว่ยกลับมีส่วนร่วมมากขึ้น

 

กฎเกณฑ์ใหม่ระบุด้วยว่า หัวเว่ยและบริษัทในเครือต่างประเทศ 114 แห่งที่ถูกขึ้นบัญชีดำ จะยังคงสามารถเข้าร่วมงานในองค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศที่สำคัญจำนวนมากซึ่งมีบริษัทของสหรัฐเข้าร่วมด้วย

"เนื่องจากมาตรฐานสากลเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่วยรับประกันด้านการใช้งานความสามารถในการทำงานร่วมกัน และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญกับความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของสหรัฐที่บริษัทของสหรัฐจะสามารถทำงานในองค์กรเหล่านี้ เพื่อที่จะรับประกันว่า ข้อเสนอด้านมาตรฐานของสหรัฐจะได้รับการพิจารณาอย่างเต็มที่"

 

นาโอมิ วิลสัน เจ้าหน้าที่ของสภาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทด้านเทคโนโลยีกล่าวว่า กฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่จะชี้ชัดว่า บริษัทของสหรัฐสามารถเข้าร่วมงานในองค์กรกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ แม้ว่าจะมีบริษัทต่างชาติที่ถูกขึ้นบัญชีดำเข้าร่วมด้วยก็ตาม

 

ขณะเดียวกัน นายแอนดี อัพเดอโกรฟ ทนายความในบอสตันซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรกำหนดมาตรฐานมากกว่า 150 แห่งระบุว่า ไม่ใช่ทุกองค์กรมาตรฐานที่จะเป็นไปตามข้อกำหนดในกฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว บางองค์กรอาจเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน แต่องค์กรต่างชาติอื่น ๆ อาจจะไม่เปลี่ยน ซึ่งโดยรวมแล้ว นับเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ แต่ก็จะไม่ได้ช่วยบริษัทของสหรัฐในทุก ๆ กรณี

 

ด้านหัวเว่ยระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทยังคงต้องการที่จะหารือเรื่องมาตรฐานกับคู่ค้าต่าง ๆ รวมทั้งที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาด้วย และระบุว่า การหารือที่สอดคล้องกันและสร้างสรรค์ จะช่วยส่งเสริมการกำหนดมาตรฐาน และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ต่อไป