"การบินไทย" ชง‘วิษณุ’ หนุนเจรจา แก้ 79 สัญญา ลดผลกระทบพ้นรัฐวิสาหกิจ

18 มิ.ย. 2563 | 05:37 น.

      “การบินไทย” ชง 2 ประเด็นหลัก เสนอคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัท ที่มีรองนายกวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน   ร้องรัฐสนับสนุน ช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการเจรจาให้แก้สัญญาต่างๆกว่า 79 สัญญา โดยคงเงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับ ให้ประกอบกิจการแข่งกับคู่แข่งได้ต่อไป

         นอกจากคณะผู้ทำแผนฟื้นฟู การบินไทย จะอยู่ระหว่างร่างแผนฟื้นฟูกิจการ และทยอยเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการของฝั่งลูกหนี้ ที่ศาลล้มละลายกลาง จะนัดไต่สวน ในวันที่ 17 ส.ค.นี้

         อีกสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันคือการประสานงานกับ คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม เพื่อให้เข้ามาเป็นตัวกลาง ในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้การบินไทย ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสิทธิประโยชน์ที่หายไป หลังจากสถานะของบริษัทฯหลุดพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นการบินไทย ได้เสนอความต้องการช่วยเหลือและสนับสนุนจากรัฐ ใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่  "การบินไทย" ชง‘วิษณุ’ หนุนเจรจา แก้ 79 สัญญา ลดผลกระทบพ้นรัฐวิสาหกิจ

           1.ประเด็นเชิงนโยบาย โดยขอให้รัฐช่วยพิจารณาและทบทวนนโยบายเปิดเสรีการบิน เพื่อควบคุมระดับการแข่งขันในอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สายการบินที่มีอยู่ในประเทศในปัจจุบัน  ขอให้ประสานงานกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)ในการให้การบินไทย มีส่วนร่วมในการจัดตารางเวลาบิน(Time Slot) เที่ยวบิน เพื่อสร้างจุดแข็งในการบริการให้การบินไทย โดยกำหนด Time Slot ที่ตรงความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น เพิ่มศักยภาพของการเป็น เน็ตเวิร์ค แอร์ไลน์ และความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลให้การบินไทย และสายการบินในประเทศอื่นๆได้รับประโยชน์จากจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นมากยิ่งขึ้น

       ขอให้พิจารณาให้สายการบินโลว์คอสต์ ลงจอดได้ที่สนามบินดอนเมืองเท่านั้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันสำหรับสายการบินฟูลเซอร์วิสและสายการบินโลว์คอสต์ อย่างชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น ขอให้พิจารณาสนับสนุนโครงการ สตาร์ อัลไลแอนซ์ ไบโอแมทริกซ์ ฮับ ในสนามบินสุวรรณภูมิ และการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับโครงการ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้โดยสารที่เดินทางมาไทยที่สะดวกรวดเร็วขึ้น และลดความหนาแน่นในอาคารผู้โดยสาร 

        ขอให้สนับสนุนการบินไทยในการยื่นขอรับรองการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในต่างประเทศในลักษณะ Recognition (ไม่ใช่การฟ้องคดีฟื้นฟูกิจการใหม่ แต่เป็นการให้ประเทศนั้นๆรับรองการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่ศาลล้มละลายกลางในไทย เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกเจ้าหนี้ยึดเครื่องบินเมื่อเครื่องบินของการบินไทยมีความจำเป็นที่จะต้องลงจอดในต่างประเทศ

       2.ประเด็นในการดำเนินงาน ได้แก่ ขอให้รัฐสนับสนุนการบินไทย ในการยื่นขอเงินกู้สภาพคล่องในระยะสั้นโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจากสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้น และช่วยให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่ค้าการบินไทยในช่วยฟื้นฟูกิจการ เพื่อผ่อนผันค่าใช้จ่าย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในการดำเนินงานของการบินไทย เช่น ค่าใช้จ่ายในการลดจอดเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยภาระทางการเงินของการบินไทย ในระยะสั้นโดยที่ยังสามารถรับบริการต่างๆจากคู่ค้า เพื่อดำเนินกิจการได้ 

"การบินไทย" ชง‘วิษณุ’ หนุนเจรจา แก้ 79 สัญญา ลดผลกระทบพ้นรัฐวิสาหกิจ

         ขอให้พิจารณาสนับสนุนการจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร เพื่อให้การบินไทย มีหลุมจอดประชิดอาคารผู้โดยสารแบบประจำเฉพาะ(Dedicated Concourse) กรณีศึกษาเช่น สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เพื่อบริการห้องรับรองและอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้แก่ ลูกค้าของการบินไทย ได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มจุดเด่น สร้างความประทับใจในด้านของการบริการ และช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน "การบินไทย" ชง‘วิษณุ’ หนุนเจรจา แก้ 79 สัญญา ลดผลกระทบพ้นรัฐวิสาหกิจ

     รวมถึงขอให้การสนับสนุนในการดำเนิน การแก้ไขสัญญาต่างๆที่มีกับหน่วยงานรัฐและ/หรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับการที่การบินไทย ได้พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ประมาณ 79 สัญญา โดยแบ่งเป็นสัญญาเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานกับธนาคารของรัฐ จำนวน 5 สัญญา สัญญาให้สิทธิประกอบกิจการกับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. 47 สัญญา สัญญาเช่าที่ดินและสถานที่กับกรมท่าอากาศยาน จำนวน 17 สัญญา และสัญญาอื่นๆ10 สัญญา เพื่อให้การบินไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ

      ต่อเรื่องนี้ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดอกกับพนักงานการบินไทยเมื่อวันก่อน ว่า ปัจจุบันจะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ที่การบินไทย เคยได้รับมาตอนเป็นรัฐวิสาหกิจจะหายไปหลายเรื่อง   "การบินไทย" ชง‘วิษณุ’ หนุนเจรจา แก้ 79 สัญญา ลดผลกระทบพ้นรัฐวิสาหกิจ

    ทั้งการใช้พื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง การเช่าใช้อาคารสถานที่ต่างๆ ก็ต้องเริ่มกลับมาพิจารณาเจรจากับคู่สัญญาใหม่ โดยส่วนใหญ่เราเช่าพื้นที่กับทอท.เพื่อดำเนินธุรกิจของหน่วยธุรกิจต่างๆอยู่มาก ที่ก็มองถึงการดึงทอท.มาร่วมลงทุนในหน่วยธุรกิจเช่นกัน

 

       “โชคดีที่ขณะนี้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการฯชุดที่มีรองนายกวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการเจรจาให้การบินไทยแก้สัญญาต่างๆ โดยคงเงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับ ให้การบินไทย ประกอบกิจการแข่งกับคู่แข่งได้ต่อไป ซึ่งปัจจุบันการบินไทยให้ข้อมูลคณะกรรมการฯชุดนี้อย่างละเอียด การบินไทยเป็นคู่เจรจาที่ต้องเดินหน้าเต็มที่เช่นกัน ถ้าเราทำช้าหรือไม่ทำ สิทธิประโยชน์ต่างๆจะหลุดมือ เราจะมีความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยลงได้” นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวทิ้งท้าย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563