“อาร์เซ็ป”มั่นใจลงนามปลายปีนี้ กวักมือเรียกอินเดียกลับร่วมวง

16 มิ.ย. 2563 | 11:46 น.

พาณิชย์ เผยการประชุมคณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ปสมัยพิเศษ ผ่านระบบทางไกล สามารถขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเสร็จแล้ว 18 บท จาก 20 บท คาดแล้วเสร็จทั้งหมดและลงนามได้ปลายปีนี้แน่นอน ชี้อินเดียยังไม่พร้อมร่วมวง แต่ยังเปิดโอกาสให้กลับเข้าร่วม

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกอิจระดับภูมิภาค(RCEP หรืออาเซียนบวก6) เผยผลการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP สมัยพิเศษ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ (ยกเว้นอินเดีย) ว่าเป้าหมายการลงนามความตกลง RCEP ใกล้เป็นความจริงแล้ว โดยสมาชิก RCEP สามารถขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเสร็จแล้ว 18 บท จาก 20 บท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถลงนามความตกลงได้ในปลายปีนี้แน่นอน

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีความคืบหน้าและสามารถตกลงประเด็นคงค้างได้เกือบทั้งหมด โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าให้รัฐมนตรี RCEP รับทราบ ในการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 10 ที่จะจัดผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ซึ่งถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP ครั้งแรกของปีนี้ โดยรัฐมนตรี RCEP จะร่วมกันพิจารณาประเด็นที่ยังคงค้างอยู่ทั้งหมด รวมถึงประเด็นของอินเดีย เพื่อให้สามารถลงนามความตกลงในปลายปีนี้ ตามที่ผู้นำตั้งเป้าหมายไว้

“อาร์เซ็ป”มั่นใจลงนามปลายปีนี้ กวักมือเรียกอินเดียกลับร่วมวง

นายรณรงค์ กล่าวอีกว่า สมาชิก RCEP ได้รับแจ้งจากอินเดียอย่างเป็นทางการว่า ไม่สามารถยอมรับข้อเสนอของสมาชิกอีก 15 ประเทศ ที่ยื่นต่ออินเดีย เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ได้ เนื่องจากยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องและข้อกังวลของอินเดีย โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลการค้ากับสมาชิกหลายประเทศ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอินเดียยังไม่พร้อมเข้าร่วมความตกลงในปีนี้ แต่สมาชิก RCEP จะร่วมกันหาแนวทางเปิดโอกาสให้อินเดียกลับเข้ามาร่วมความตกลงในอนาคต

 

ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการเปิดเผยสาระสำคัญของความตกลง RCEP และเผยแพร่ข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงต่างๆ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบอย่างต่อเนื่อง โดยเร็วๆ นี้ กรมฯ จะจัดการสัมมนาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะเตรียมจัดสัมมนาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความตกลง RCEP แก่ทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น

 

“อาร์เซ็ป”มั่นใจลงนามปลายปีนี้ กวักมือเรียกอินเดียกลับร่วมวง

ทั้งนี้ ความตกลง RCEP ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ (ยกเว้นอินเดีย) ถือเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 30 ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 25.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 29.3 ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ากว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 27.4 ของมูลค่าการค้าโลก