มองบวกโควิด ผ่านมุมมอง “บัณฑิต สะเพียรชัย” บิ๊กบอส BCPG  

15 มิ.ย. 2563 | 11:54 น.

ในฐานะ “แม่ทัพ” นำธุรกิจพลังงานสะอาดบุกฝ่าวิกฤติโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบรุนแรงในหลายวงการทั่วโลก ณ เวลานี้ บัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ “ออกซฟอร์ด บิสิเนส กรุ๊ป” (โอบีจี) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาระดับโลก ว่า  ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนค่อนข้างจะได้อานิสงส์จากวิกฤติครั้งนี้ และมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งของไทยและของภูมิภาคให้เติบโตต่อไป

บัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)

“เราได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมด้านพลังงาน เนื่องจากโรคระบาดดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในอุตสาหกรรม อย่างแรกเลยคือ มาตรการล็อกดาวน์ทำให้เราได้เห็นว่า เมื่อผู้คนไม่ต้องขับรถไปทำงาน และมีรถวิ่งบนท้องถนนน้อยลง มลภาวะต่าง ๆ ก็ลดลงและคุณภาพของอากาศก็ดีขึ้น” บัณฑิตมองว่า ใคร ๆต่างก็ชอบอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ คนส่วนใหญ่อยากให้คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นนี้คงอยู่ตลอดไป  ช่วงเวลาเช่นนี้จึงพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า รถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงปิโตรเลียมนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากพิจารณาในมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย รัฐบาลทุก ๆ ประเทศ ก็ควรจะต้องตระหนักในเรื่องนี้และพยายามส่งเสริมพลังงานสะอาดให้มากขึ้น  “โควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน และขณะเดียวกันก็เปิดทางให้ธุรกิจพลังงานสะอาดได้เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น”     

 

ในมุมมองด้านการลงทุน บัณฑิตชี้ให้เห็นว่า เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ภาพรวมราคาหุ้นของบรรดาบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานตกลงมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะเกิดโควิด-19 แต่ทุกฝ่ายก็เชื่อมั่นว่า  “พลังงานสะอาด” คือเซ็กเมนท์ด้านพลังงานที่จะเข้ามาเป็นอนาคตของอุตสาหกรรม ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสที่กองทุนและนักลงทุนในหุ้นพลังงานสะอาดจะเข้ามาซื้อหุ้นในช่วงที่ราคากำลังปรับลดลง ทั้งนี้ เขามองว่า มูลค่าหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดในตอนนี้อาจจะต่ำกว่ามูลค่าจริงที่ควรจะเป็นเนื่องจากทั้งโลกกำลังช็อกกับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้น แต่ต่อไปนักลงทุนจะเริ่มให้ความสนใจธุรกิจกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง “บีซีพีจี” โชว์กำไรไตรมาสแรก 574 ล้านบาท

Cr. ภาพจาก BCPG

สำหรับผลประกอบการของบีซีพีจีเอง ซึ่งธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม จนถึงพลังงานความร้อนใต้พิภพ ถือว่าฝ่าช่วงวิกฤติมาได้อย่างน่าประทับใจ เพราะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมลดลง แต่รายได้ของบริษัทยังเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าที่ซื้อไฟฟ้าจากบีซีพีจีโดยส่วนใหญ่ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม แต่เป็นหน่วยงานภาครัฐซึ่งทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันเป็นระยะยาว ซึ่งโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์การใช้ไฟฟ้าในส่วนนี้  

 

 บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 42,491 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2563 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 5,354 ล้านบาท หรือ +14.4% สาเหตุหลักมาจากการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “Nam San 3B” ที่ สปป.ลาว เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผลงานไตรมาสแรกจึงถือเป็นการเริ่มต้นปีที่ดีสำหรับบีซีพีจี 

 

“การเติบโตของธุรกิจเรามี 2 ปัจจัยหลัก อย่างแรกเลยคือการเติบโตของธุรกิจในพอร์ตของเราเอง จากการเข้าไปซื้อโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่งในสปป.ลาว เมื่อเดือนก.ย. ปี 2562 และเดือนก.พ. 2563 ตามลำดับ ปัจจัยที่สองเป็นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเราไม่ได้ลงทุนเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีการลงทุนในต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ลาว และฟิลิปปินส์ ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐช่วยเราได้มากในช่วงเวลานี้”  

 

เมื่อถามว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อแหล่งเงินทุนสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียนอย่างไรหรือไม่ บัณฑิตมองว่า หากพิจารณาจากมุมมองของนายธนาคารหรือนักลงทุนที่มองมายังธุรกิจ 3 ประเภท คือ โรงแรม ค้าปลีก และพลังงานหมุนเวียน พลังงานหมุนเวียนก็น่าจะดึงดูดใจมากที่สุด

จากการที่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่าธุรกิจประเภทอื่น ๆ และบริษัทเองก็มีรูปแบบธุรกิจที่มีความยั่งยืน จังหวะนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในแง่การลงทุน เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ธนาคารและนักลงทุนระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น เขาเชื่อว่าธุรกิจในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนจะเป็นหนึ่งในทางเลือกอันดับต้น ๆ 

 

ส่วนแผนการลงทุนของบีซีพีจี ก่อนเกิดโควิด-19 นั้น บริษัทมีแผนการลงทุน 45,000 ล้านบาท (1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับปี 2563-2568 และเดิมก็มีแผนลงทุนโครงการใหญ่ในปีนี้ แต่หลังจากที่เกิดโควิดขึ้นมา แม้บริษัทก็ยังคงมีแผนลงทุน 45,000 ล้านบาทเช่นเดิม แต่ได้ปรับการกระจายการลงทุนภายในระยะ 5 ปีดังกล่าว มีบางโครงการที่ถูกระงับไว้ก่อนในตอนนี้ แต่หวังว่าหลังวิกฤติโควิดคลี่คลายลง จะสามารถดำเนินการโครงการเหล่านี้ได้ตามที่วางแผนไว้   

 

การเกิดโควิด-19 ทำให้ประเทศต่าง ๆ หันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น และผู้คนทั่วไปก็หันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้นเช่นกัน โควิด-19 ทำให้กระแส “โลกาภิวัตน์” ลดบทบาทลงมาในระดับหนึ่งอย่างน้อยก็ในระยะสั้น แต่ละประเทศมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศ เป้าหมายก็เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่ก็ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดแนวโน้มที่จะผู้ประกอบการจะหันมาเน้นการผลิตภายในประเทศมากยิ่งขึ้น

 

แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับผู้บริโภคด้วย โควิด-19 ทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นและเข้าสังคมน้อยลง แต่ผู้คนก็ทำงานร่วมกันมากขึ้นด้วย บิ๊กบอสของบีซีพีจีเชื่อว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัท พร้อมกันนี้ ได้แย้ม ๆ ทิ้งท้ายว่า บีซีพีจีเองมีโครงการเกี่ยวกับ digital energy ที่ตั้งใจจะทำและคาดว่าจะเปิดตัวได้เร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมด้วย เพราะเป็นธุรกิจที่เข้ากันได้ดีกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

 

ข้อมูลอ้างอิง/บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม คลิกที่นี่ Bundit Sapianchai, President and CEO, BCPG