ค้านอุ้ม“จั้งบอนด์”โดยตรง ลั่นต้องเข้มกว่า BSF 

13 มิ.ย. 2563 | 10:30 น.

ตลาดค้านออกกองทุนอุ้ม จั้งบอนด์”  โดยตรง เหตุติด 2 ความเสี่ยง “เครดิต-แฮร์คัต” ชี้ยังไม่มีประเทศต้นแบบ รับเสี่ยงจั้งบอนด์ สมาคมตราสารหนี้เผย สิ้นปีหุ้นกู้ Non-Investment gradeครบไถ่ถอน 30,000 ล้านบาท

ความตื่นตระหนกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเทขายในสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงตราสารหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จึงจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้(BSF)ให้กู้ยืมเพื่อชำระตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด แต่จะต้องจะเป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตระดับลงทุน(Investment grade) ล่าสุดนายสมคิด จาตุ-ศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.)หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษารูปแบบหรือแนวทางดูแลตราสารหนี้ทุกประเภท รวมทั้ง High Yield Bond ด้วยการจัดตั้งกองทุนมาดูแลตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับตํ่ากว่า Investment grade หรือ ตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ (High Yield Bond / Non Investment Grade Bonds) เพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังต่อไป 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เปิดเผยว่า เบื้องต้นที่ประชุมมีข้อสรุปจะจัดตั้งกองทุนในรูปแบบกองทุนรวมหรือทรัสต์ ซึ่งเป็นกองทุนปิดที่มีการบริหารจัดการโดยมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ ขายให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น โดยเน้นลงทุนใน high yield bond และจะผ่อนคลายบางกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดตั้งและบริหารกองทุน และอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับมาตรการจูงใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนใหม่ เพื่อดูแลตราสารหนี้ Non rated Bond จะต้องมีเงื่อนไขให้ยากขึ้นกว่า BSF ในการเข้าใช้บริการ ซึ่งปริมาณ คงค้างตราสารหนี้ Non-rated Bond หรือไฮบอนด์ยิลด์มีอยู่จำนวนมาก และต้องจับตาในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีการออกจำนวนมาก เพราะตราสารประเภทนี้มีความเสี่ยงคือ 1.สภาพคล่องตํ่ากว่าตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิต ถ้าผู้ซื้อเข้าไปถือครองตราสารพวกนี้แล้ว เมื่อต้องการจะขายออกก่อนกำหนดในตลาดรอง นอกจากจะโดนแฮคัตมาก ซึ่งเกิดความเสียหายจากราคาขายที่ได้ไม่ดีแล้วยังมีประเด็นว่าใครจะรับซื้อและ 2.ความเสี่ยงด้านเครดิตกรณีถือตราสารหนี้อยู่แล้ว เจ้าตัวเกิด Default เท่ากับหุ้นกู้ตัวนั้นถูกตีมูลค่าเป็นศูนย์ 

“จึงมีความเป็นไปได้ที่ต้องเข้าไปเพื่อรักษาความเชื่อมั่นหรือปกป้องเงินของประชาชน โดยเน้นกองทุนดูแลตราสารหนี้เดิมที่ขายออกมาแล้ว เช่น บริษัทเดิมยังมีฐานะที่ดี แต่หุ้นกู้เดิมถูก Down Grade ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้วย แต่ไม่ใช่จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลการออกตราสารหนี้ Non rated Bond โดยตรง เนื่องจากยังไม่เห็นทางออกในแง่ที่จะจัดการกับความเสี่ยงด้านเครดิตและกรณีถูกแฮคัต ขณะเดียวกันยังไม่มีประเทศไหนทำ แม้กระทั่งเวลานี้ธนาคารกลางสหรัฐมีโปรแกรมที่อยู่ระหว่างหารือในหลักการเน้นจะซื้อตรสารหนี้ Investment Grade เท่านั้นแต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมา” 

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทยเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หุ้นกู้ Non-Investment Grade หรือ “กลุ่มตํ่ากว่าระดับลงทุน” ที่มีเรทติ้ง ตั้งแต่ BB+ ลงมา จนถึง D นั้น จะครบกำหนดไถ่ถอนในสิ้นปี 2563 ที่ 30,000 ล้านบาทถือว่า ไม่มากเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดในตลาดตราสารหนี้ที่ 3.8 ล้านล้านบาท ซึ่งมองว่า การออกหุ้นกู้ระดับเรทติ้งดังกล่าวในแต่ละปีมีปกติและให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ Non-Investment grade จะมีทั้งที่จัดอันดับเครดิตและไม่ต้องการจัดอันดับเครดิต เพราะบริษัทที่ออกส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งมีชื่ออยู่แล้ว รวมถึงมีการเปิดเผยผลการดำเนินงานทุก 3 เดือน โดยอาจจะมีขนาดที่ไม่ใหญ่ และการออกหุ้นกู้มีมูลค่าไม่สูงมาก ทำให้บางบริษัทเลือกที่จะไม่จัดอันดับเครดิต เพราะจะช่วยลดต้นทุน แต่จะให้ผลตอบแทนที่สูง ส่วนบริษัทที่เลือกจัดอันดับเครดิตส่วนใหญ่จะได้อันดับที่ไม่สูงมากนัก  

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,583 วันที่ 14 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563