New Normal กับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ว่าด้วยการรวมธุรกิจ

14 มิ.ย. 2563 | 02:00 น.

บทความโดย... สมเกียรติ ตันกิตติวัฒน์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3583 หน้า 5 ระหว่างวันที่ 14-17 มิ.ย.63

 

ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ประสบปัญหา การเติบโตทางธุรกิจจากการเติบโตภายในองค์กรทำได้ยากและลำบากมากขึ้น บางธุรกิจก็จำเป็นต้องปิดกิจการหรือขายกิจการให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น จึงทำให้เกิดแนวโน้มในการรวมธุรกิจ (Mergers and Acquisitions-M&A) มากขึ้น โดยที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 51 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจ อันอาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสําคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่จะกระทําการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาดต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ซึ่งการ รวมธุรกิจในที่นี้หมายความรวมถึง

1. การที่ผู้ผลิตรวมกับผู้ผลิต ผู้จําหน่ายรวมกับผู้จําหน่าย ผู้ผลิตรวมกับผู้จําหน่าย หรือผู้บริการ รวมกับผู้บริการ อันจะมีผลให้สถานะของธุรกิจหนึ่งคงอยู่และอีกธุรกิจหนึ่งสิ้นสุดลงหรือ เกิดเป็นธุรกิจใหม่ขึ้น

2. การเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่นเพื่อควบคุมนโยบายการบริหาร ธุรกิจ การอํานวยการ หรือการจัดการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด 

3. การเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจ การอํานวยการ หรือการจัดการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด

การแจ้งผลการรวมธุรกิจ และการขออนุญาต และการอนุญาตการรวมธุรกิจ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศ  กําหนดการรวมธุรกิจดังกล่าวข้างต้น มิให้ใช้บังคับกับการรวมธุรกิจเพื่อปรับโครงสร้างภายในของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออํานาจสั่งการ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด 

บทกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจ แล้วไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีดังนี้ 

1. ผู้ประกอบธุรกิจ ฝ่าฝืนไม่แจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกิน สองแสนบาท และปรับอีกในอัตราไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาทต่อวันตลอดระยะเวลาที่ ฝ่าฝืนอยู่

2. ผู้ประกอบธุรกิจ ฝ่าฝืนที่จะกระทำการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูดขาด หรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่อำนาจเหนือตลาด โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กขค ก่อนการรวมธุรกิจ หรือไม่ปฎิบัติตามที่ กขค. ที่อนุญาตให้รวมธุรกิจแล้ว ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตรา ไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ 

 

New Normal  กับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ว่าด้วยการรวมธุรกิจ

 

New Normal ของการรวมธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ไม่ได้ ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการรวมธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดการบริการ ด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 2 รายที่ไม่ได้แจ้งผลการรวมธุรกิจภายใน 7 วัน และ กขค.ได้มีมติให้ สขค. ดำเนินการปรับโทษทางปกครองแก่นิติบุคคลและบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ต้องสั่งการ หรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดแล้ว

 

พ.ร.บ.การแข่งขันทาง การค้า พ.ศ. 2560 มีข้อยกเว้นและไม่ให้ใช้บังคับกับการรวมธุรกิจ เพื่อปรับโครงสร้างภายในของผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรือำนาจสั่งการ โดยมีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ดังนี้ 

“ความสัมพันธ์กันทางนโยบาย” หมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ตั้งแต่สองรายขึ้นไปที่มีแนวทาง นโยบาย หรือวิธีการในการบริหาร การอำนวยการ หรือการจัดการธุรกิจ ที่อยู่ภายใต้บุคคลที่มีอำนาจสั่งการของผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวกัน “อำนาจสั่งการ” หมาย ความว่า อำนาจควบคุม อันเนื่องมาจากเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้

1. การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนสิทธิ ออกเสียงทั้งหมดของผู้ประกอบธุรกิจนั้น

2. การมีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่ง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

3. การมีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการในผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งตั้งแต่กึ่งหนึ่ง ของกรรมการทั้งหมด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

4. การมีอำนาจสั่งการตาม ข้อ 1 หรือ ข้อ 2 ต่อไปเป็นทอดๆ ทุกทอด โดยเริ่มจากการมีอำนาจสั่งการตาม ข้อ 1 หรือ ข้อ 2 ในผู้ประกอบธุรกิจในทอดแรก 

ดังเช่นการรวมธุรกิจของร้านสะดวกซื้อรายหนึ่ง ที่มีผู้ถือหุ้นเดิมถือหุ้นอยู่แล้วประมาณ ร้อยละ 51 และมีกรรมการในผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกซื้อมากกว่ากึ่งหนึ่งและต่อมาได้มีการซื้อหุ้นเพิ่มเติมผ่านบริษัทย่อย อีกร้อยละ 49 ซึ่งถือว่าเป็นการรวมธุรกิจที่เป็นการจัดโครงสร้างภายในของผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรือมีอำนาจสั่งการ 

 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานเชิงรุกในการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 อีกทั้งหนึ่งในนโนบายหลักที่สำคัญของคณะกรรมการฯชุดนี้  คือ มุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจ และการบริหารจัดการให้การค้าของไทยมีมาตรฐานแบบสากล   

รวมถึงเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจ  โดยกำกับดูแลโครงสร้างตลาดให้เอื้ออำนวยและเกิดการแข่งขันทางการค้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทุกราย ไม่ว่าจะเป็นขนาด เล็ก กลาง และขนาดใหญ่ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เกิดการแข่งขันที่เสรี และเป็นธรรม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแข่งขันทางการค้า ที่ได้กำหนดไว้ 

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจ มีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติตามข้อกฎหมายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทาง การค้า (สขค.) หมายเลขโทรศัพท์ 0-2199-5444