กยท.เล็งระบายยาง 1.2แสนตัน ประเมินขาดทุนยับ 20-60 บาทต่อกก.

12 มิ.ย. 2563 | 10:55 น.

กยท.ตีมูลค่ายาง 2 โครงการในสต๊อกรัฐบาล 1.2 แสนตัน รัฐขาดทุนยับ 20-60 บาท ต่อกก. วางแผนเร่งระบายปี 63 นำเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส. พร้อมของบชดเชยผลขาดทุน เผยแบกค่าเช่าโกดัง-ค่าบริหารอ่วม 132 ล้านต่อปี

ปัจจุบันยางพาราในสต๊อกรัฐบาล มี 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์  53,190.14 ตัน 2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือบัฟเฟอร์ฟันด์ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  51,572.88 ตัน รวม 2 โครงการ 1.04 แสนตัน (ไม่มีสัญญาซื้อขาย) วงเงินกู้รวม 2 โครงการ 3.16 หมื่นล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มูลค่าของยางพาราทั้ง 2 โครงการ มีการประเมินคุณภาพของคณะกรรมการตรวจสต๊อก และคุณภาพยาง ที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แต่งตั้งตามคำสั่งที่ 261/2562 ลงวันที่ 12 กันยายน 2562 และใช้ราคายาง ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นราคาฐานปรับลดราคาตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการระบายสต๊อกยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ในการประชุมครั้งที่ 2/2559 คือ 

1. ยางเสียรูปทรง ใช้ฐานราคาปรับลด 0.28 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) 2.ยางที่มีราสนิม ใช้ฐานราคาปรับลด 0.75 บาทต่อ กก. 3.ยางที่มีราสีขาว มีความชื้นสูง ใช้ฐานราคาปรับลด 4.23 บาท ต่อ กก. 4.ยางแท่ง STR20 ไม่มีใบรับรองคุณภาพ ขายเป็น Block rubber ใช้ฐานราคาปรับลด 2.00 บาทต่อ กก. และ 5.ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อัดก้อน ณ โกดัง เท่ากับราคา FOB กรุงเทพ-ค่าใช้จ่ายส่งออก 3.40 บาท ต่อ กก.

เมื่อคิดคำนวณออกมาแล้วมูลค่าของสต๊อกยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จำนวน กว่า 6 หมื่นตัน มีมูลค่าลดเหลือประมาณ  2,347.25 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยที่จะขาย 38.63 บาทต่อ กก.  ขณะที่ราคารับซื้อในโครงการเฉลี่ยราคาซื้อ 98.96 บาท ต่อกก. ขาดทุน 60.33 บาท ต่อกก. ส่วนมูลค่าของสต๊อกยางโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ  ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จำนวน 62,794.99 ตัน มีมูลค่าประมาณ 2,491.50 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยรับซื้อมา 59.74 บาท ต่อ กก. ราคาประเมินขาย 39.67 บาท ต่อ กก. ขาดทุน 20.07 บาท ต่อ กก. 

กยท.เล็งระบายยาง 1.2แสนตัน  ประเมินขาดทุนยับ 20-60 บาทต่อกก.

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กยท.จำเป็นที่จะต้องระบายยางในสต๊อกให้หมด ตามแผนที่ส่งให้ที่ประชุม กนย. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ2563 เพื่อนำเงินรายได้จากการขายยางมาชำระหนี้ ธ.ก.ส. ดำเนินการปิดบัญชี ส่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบและรับรองแล้วของบประมาณแผ่นดิน ชดเชยผลการขาดทุน เพื่อชำระหนี้ ธ.ก.ส.ที่เหลือโดยมีแผนการดำเนินงานขายยางในสต๊อก 1.2 แสนตัน แบ่งเป็น 2 กอง ได้แก่ กองที่ 1  สต๊อกยางไม่มีสัญญาซื้อขาย 1.04 แสนตัน ส่วนกองที่ 2 มีสัญญาซื้อขายรวม 1.87 หมื่นตัน กำลังอยู่ในการฟ้องร้องผู้ซื้อเบี้ยวสัญญาไม่ยอมรับมอบยางหลังจากประมูลซื้อได้

ปัจจุบันรัฐบาลต้องเสียค่าเช่าโกดังในโครงการพัฒนาฯ ราคายาง (โกดังเอกชน 9 โกดัง) เดือนละ 3.854 ล้านบาท หรือปีละ 46.248 ล้านบาท และค่าเช่าโกดังโครงการสร้างมูลภัณฑ์ฯ (โกดังเอกชน 3 โกดัง) เดือนละ 3.168 ล้านบาท หรือปีละ 38.016 ล้านบาท ค่าเบี้ยประกันสต๊อกยางประมาณปีละกว่า 35 ล้านบาท ค่าบริหารโครงการ (ค่าจ้างลูกจ้าง รปภ.พาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายสำนักงาน) ปีละ 13 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายปีละ 132.264 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกก.ละ 1.26 บาท ต่อปี หรือ กก.ละ 0.11 บาทต่อเดือน

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563