Healthy Trend  ในธุรกิจครอบครัว (จบ)

14 มิ.ย. 2563 | 03:53 น.

บิสิเนส  แบ็กสเตจ  รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์  และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ([email protected])

3. สุขภาพการเป็นเจ้าของธุรกิจ การมีกลุ่มความเป็นเจ้าของที่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง มีข้อมูลที่ดีและมีความสามารถในการตัดสินใจที่ทำไปแล้วสามารถรับผิดชอบได้ เพื่อประโยชน์ของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญของธุรกิจครอบครัว อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลความเป็นเจ้าอย่างแข็งขัน มีระเบียบวินัยและเปิดให้มีการประสานความร่วมมือ (open and collaborative) แลกเปลี่ยนกันระหว่างเจ้าของด้วย ซึ่งหนึ่งในข้อได้เปรียบที่สำคัญของธุรกิจครอบครัวคือมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นแบบกระจุกตัวสูงช่วยให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตามหากความสามารถในการตัดสินใจของกลุ่มเจ้าของมีความบกพร่องเนื่องจากความขัดแย้งหรือปัญหาอื่น ๆ ก็อาจทำให้ธุรกิจล้มเหลว นอกจากนี้การเป็นเจ้าของสุขภาพดียังต้องมีวิธีดำเนินงานอย่างอดทนและมุ่งในระยะยาวให้มาก

Healthy Trend   ในธุรกิจครอบครัว (จบ)

 

4. สุขภาพบริษัท การดำเนินธุรกิจให้มีผลการปฏิบัติงานและผลกำไรสูงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธุรกิจนั้นมีการเติบโตอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรักษาความมั่งคั่ง ความสำเร็จ และการเติบโตไว้ได้  จึงจำเป็นต้องมีภาวะผู้นำและผู้บริหารที่มีวินัยและการกำกับดูแลระดับโลกในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นความเป็นเจ้าของ คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูง โดยทุกคนจะต้องรู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรกับคนในระดับอื่นๆ ดังนั้นการมีคำจำกัดความที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของเจ้าของ คณะกรรมการและทีมผู้บริหารระดับสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว รวมถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ ได้แก่ การสร้างภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ นวัตกรรม ความเป็นเลิศทางการเงิน การบริหารคนเก่งและการวางแผนการสืบทอดกิจการ เป็นต้น

5. สุขภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีธุรกิจครอบครัวจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต้องการที่จะใช้สินทรัพย์ของตนในการทำความดี และอีกวิธีหนึ่งที่พบคือการปรับโมเดลธุรกิจหลักใหม่และเริ่มเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ขับเคลื่อนอย่างมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเฉพาะเรื่องเงินทอง ต่างจากในอดีตที่อาจจะเห็นผู้ประกอบการร่ำรวยจากธุรกิจที่มักจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม เช่น น้ำมัน แล้วจากนั้นค่อยใช้วิธีทำการกุศลเพื่อชดเชยผลกระทบที่เป็นอันตรายจากกิจกรรมของบริษัท 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,583 วันที่ 14 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563