นักวิจัย ชี้จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัว "ภาคบริการและชุมชน"

11 มิ.ย. 2563 | 09:42 น.

นักวิจัย ชี้ จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัวของ“ภาคบริการและชุมชน” แนะฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย เร่งดำเนินการแผนบริหารจัดการน้ำ รองรับสังคมเมือง และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง

การจะบริหารจัดการ เพื่อสร้างสมดุลการใช้น้ำในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะการวางแผนสำหรับอนาคตใน 20 ข้างหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ของชาตินั้นไม่ง่าย นักวิจัย “โครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” เผยมุมมอง ภาคอุตสาหกรรมที่เคยเป็นตัวร้ายถูกมองเป็นผู้ใช้น้ำมาก ปัจจุบันปรับตัวและพัฒนาไปมากแล้ว

นักวิจัย ชี้จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัว "ภาคบริการและชุมชน"

ส่วนที่น่าห่วงคือ ความต้องการใช้น้ำของภาคบริการ ท่องเที่ยว และการอุปโภค-บริโภคของชุมชนและเมืองที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะต้องการใช้น้ำจำนวนมาก พอๆ กับภาคอุตสาหกรรม หากไม่มีการเตรียมการที่ดี จะเป็นจุดตายของ EEC

นักวิจัย ชี้จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัว "ภาคบริการและชุมชน"

รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน จากภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” และหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงความก้าวหน้าของผลการศึกษาฯ ว่า เมื่อพูดถึงเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือEEC สปอตไลท์มักจับไปที่ภาคอุตสาหกรรม ตัวการสำคัญที่ใช้น้ำเป็นจำนวนมหาศาล

ในความเป็นจริงเขตอุตสาหกรรมใหม่แห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริการ การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคชุมชน ล้วนต้องการน้ำในทุกภาคส่วน และเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเมือง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ประมาณการความต้องการใช้น้ำในปี พ.ศ. 2580 อยู่ที่ 3,089 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 650 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ในการศึกษาของโครงการฯ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย(Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่มีเป้าหมายลดการใช้น้ำลง 15% ในทุกภาคส่วน

นักวิจัย ชี้จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัว "ภาคบริการและชุมชน"

​“โจทย์ของ EEC ต่างกับโจทย์ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศค่อนข้างชัดเจน ซึ่งการใช้น้ำเกือบ 80% เป็นเรื่องภาคเกษตรแต่ EEC ไม่ใช่ เพราะพื้นที่ EEC มี 3 จังหวัด และมีสภาพการใช้น้ำแตกต่างกันอย่างมาก

รศ.ดร.บัญชา กล่าวว่า จากการจำแนกการใช้น้ำในพื้นที่ EEC พบว่า “จังหวัดระยอง” มีการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 50% โดยพึ่งพาการใช้น้ำจากภาครัฐและบริษัทน้ำเอกชนค่อนข้างมาก หากไม่ลดการใช้น้ำลง ต่อไปจะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยองอย่างแน่นอน 

ส่วน “จังหวัดชลบุรี”ภาคการใช้น้ำหลักอยู่ที่ชุมชน นอกจากน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคยังรวมถึงกลุ่มท่องเที่ยวโรงแรม/ที่พักรีสอร์ท และการบริการอีกด้วย

นักวิจัย ชี้จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัว "ภาคบริการและชุมชน"

รศ.ดร.บัญชา ยังให้ข้อสังเกตว่า ระยองแม้จะเป็นเมืองที่มีการอพยพโยกย้ายของแรงงานมาก แต่ประชากรจำนวนหนึ่งที่ทำงานในจังหวัดระยอง กลับเลือกพักอาศัยที่จังหวัดชลบุรี รวมถึงชาวต่างชาติ เนื่องจากใกล้แหล่งพักผ่อน และยังเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ซึ่งในอนาคตเมื่อโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินแล้วเสร็จ จะยิ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ทวีความหนาแน่นของประชากรยิ่งขึ้น

​ขณะที่ “จังหวัดฉะเชิงเทรา” การใช้น้ำส่วนใหญ่มากกว่า 80% เป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตร และเป็นเกษตรแบบไม่มีฤดูกาลมีการใช้น้ำตลอดทั้งปี ในปีแล้งจึงมีผลกระทบมาก ถือเป็นยาขมหม้อใหญ่ของการบริหารจัดการน้ำ ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมของฉะเชิงเทราส่วนใหญ่เป็นการใช้น้ำสำรองที่ดึงจากแม่น้ำบางปะกงมาเก็บไว้

นักวิจัย ชี้จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัว "ภาคบริการและชุมชน"

​ในเบื้องต้นเพื่อให้เห็นความชัดเจนของการลดการใช้น้ำได้จริง การศึกษาวิจัยจึงเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักเพราะมองว่ามีความพร้อมมากสุดในการปรับตัว และการศึกษาที่ผ่านมา ยังไม่มีใครรู้ว่าภาคอุตสาหกรรมมีน้ำต้นทุนที่ไหนบ้าง 

นอกจากตัวเลขการรับน้ำจากกรมชลประทาน และอีสท์วอเตอร์ ทำให้การศึกษาวิจัยนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการเก็บข้อมูลต้นทุนน้ำทั้งหมด พร้อมกับนำเทคโนโลยีเข้าไปจับในกระบวนการผลิต เพื่อทราบว่าสุดท้ายแล้วจะลดการใช้น้ำอย่างไร

นักวิจัย ชี้จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัว "ภาคบริการและชุมชน"

รศ.ดร.บัญชา บอกอีกว่า แม้จะมีมาตรการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วน ก็ยังต้องพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำลงแล้วในระดับหนึ่ง จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล คณะวิจัยได้สร้างความเข้าใจ พร้อมนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นที่ปรึกษา แนะนำกระบวนการลดการใช้น้ำให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบทั้ง 15 โรงงาน และอีก 2 นิคมอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมหลายแห่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งมาตรการประหยัดน้ำ มีแหล่งน้ำต้นทุนของตนเอง มีระบบบำบัดน้ำเสีย และนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่

นักวิจัย ชี้จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัว "ภาคบริการและชุมชน"

“ปัจจัยที่เป็นตัวเร่ง คือภาคอุตสาหกรรมที่เคยผ่านวิกฤตเมื่อในปี พ.ศ. 2548 มีการปรับตัวไปมาก แต่บางส่วนที่ไม่เคยเจอวิกฤตก็ยังไม่ได้ปรับ เพราะในปี พ.ศ. 2558 ที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ แต่ไม่ได้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก จึงยังไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหลังจากที่ได้รับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนเพื่อลดการใช้น้ำ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สำหรับผู้ที่เคยทำอยู่แล้ว หลังนำงานวิจัยเข้าไปเสริมข้อมูลความรู้ให้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำได้มากขึ้นภายใน 6 เดือนเห็นผลแล้วว่าเราทำได้”

นักวิจัย ชี้จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัว "ภาคบริการและชุมชน"

​ขณะที่ภาคอุปโภคบริโภคยังไม่เคยเกิดผลกระทบ เช่นเดียวกับทางด้านภาคการท่องเที่ยว ในปี พ.ศ 2548 ยังไม่เติบโตมาก และจำนวนประชากรที่เคลื่อนย้ายเข้ามายังไม่มากนัก เช่น จังหวัดชลบุรีขณะนั้น มีประชากรไม่ถึง 2 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีประชากรกว่า 2.5 ล้านคน ส่วนการพัฒนาการท่องเที่ยวเติบโตมากกว่าปี พ.ศ. 2548 ถึงเท่าตัว

​“โจทย์คือ ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตมาก การท่องเที่ยวเติบโตมาก ภาคเกษตรกรรมเองก็มีพืชเศรษฐกิจสำคัญโดยเฉพาะทุเรียน สร้างรายได้ดี ทำให้เกษตรกรจำนวนมากโค่นต้นยางหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทุเรียนเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก จึงมีความน่าเป็นห่วงว่าน้ำจะเพียงพออยู่อีกหรือไม่ วันนี้มาตรการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเรามอง ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรในเขต EEC จะมีไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ซึ่ง EEC ถือเป็นพื้นที่เดียวของประเทศไทยที่ปริมาณของประชากรจะเติบโตมากขึ้น และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นล้านคน เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว”

นักวิจัย ชี้จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัว "ภาคบริการและชุมชน"

​วันนี้ ภาคอุตสาหกรรมมีความน่าห่วงระดับปานกลางเพราะมีการปรับตัวและพัฒนาไปมาก และทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคตจะเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยเน้นเทคโนโลยีนวัตกรรม สิ่งที่น่าห่วงคือ ความต้องการใช้น้ำของภาคบริการท่องเที่ยว และการอุปโภค-บริโภคของชุมชนเมืองที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำมากพอๆ กับอุตสาหกรรม ดังนั้น หากไม่มีการเตรียมการที่ดี จะเป็นจุดตายของ EEC