“โอเปกพลัส” ขยายกำลังผลิตส่งราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

11 มิ.ย. 2563 | 05:25 น.

“กลุ่มโอเปกพลัส” ขยายกำลังผลิตส่ง “ราคาน้ำมันดิบ” มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในจีนฟื้นตัวแล้วกว่า 90% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด "โควิด-19"

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ “สนพ.” คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังการประชุมกลุ่มโอเปกพลัส เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 63 มีข้อตกลงที่จะขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน จากเดิมสิ้นเดือนมิถุนายน 63 ไปเป็นสิ้นเดือนกรกฎาคม 63 อย่างไรก็ตาม มีประเด็นความตึงเครียดครั้งใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐฯ กรณีการประท้วงในฮ่องกง โดยล่าสุดจีนชะลอการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อเป็นการโต้ตอบ จากการที่สหรัฐฯ เริ่มกระบวนการยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกง อีกทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงในสหรัฐฯ อาจกระทบความต้องการใช้น้ำมันดิบโดยรวม  ส่วนราคาน้ำมันไบโอดีเซลของไทยเฉลี่ยต้นเดือนมิถุนายน ปรับลดลงเล็กน้อย จากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในภาคขนส่งเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว

              นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. เปิดเผยว่า  ราคาน้ำมันดิบ ในช่วงวันที่ 1 -7 มิถุนายน 2563 oyho ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 39.27 และ 37.30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 4.92 และ 3.21 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  โดยกลุ่มโอเปกพลัส ต่างเห็นพ้องที่จะขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันไปอีก 1 เดือน และประเทศที่ผลิตน้ำมันเกินโควต้าในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนจะชดเชยโดยการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มกว่าที่ตกลงในเดือนกรกฏาคม-กันยายน 63 ความต้องการใช้น้ำมันทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว ในประเทศจีนฟื้นตัวแล้วกว่า 90% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ วันที่ 29 พ.ค. 63 ลดลงราว 2.1 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 532.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบลดลง 0.2 ล้านบาร์เรล/วัน แตะระดับ 11.2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่ตุลาคม 61 และรายงานแท่นขุดเจาะน้ำมัน ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 63 ลดลง 16 แท่น สู่ระดับ 206 แท่น

“โอเปกพลัส” ขยายกำลังผลิตส่งราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

ด้านราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชียนั้น  ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 42.17 และ 39.24 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.43 และ 5.52 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  โดยการผลิตและการส่งออกน้ำมันเบนซินในญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำ อุปสงค์น้ำมันเบนซินในอินเดียเริ่มฟื้นตัว ทำให้ Indian Oil Corp. มีแผนเพิ่มอัตราการเดินเครื่องโรงกลั่นในเครือ (9 แห่ง) จากช่วงครึ่งแรกของเดือนเมษายน 63 ที่ 40 - 45% มาอยู่ที่ 80%

ตลาดน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคา Conventional Gasoline Blending Components (CBOB) Gasoline วันที่ 5 มิถุนายน 63 เพิ่มขึ้น 0.5 เพนนี อยู่ที่ 11.50 เซนต์/แกลลอน (3.785411784 ลิตร) จากผู้ค้ากังวลต่อผลกระทบจากพายุ Cristobal ที่พัดผ่านอ่าวเม็กซิโก ซึ่งกระทบต่อการผลิตในกลางทะเล

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 43.29 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.32 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตลาดตะวันออกกลางยังไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดีเซล แม้ประเทศต่างๆ เริ่มคลายมาตรการปิดประเทศ

“โอเปกพลัส” ขยายกำลังผลิตส่งราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.28 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ระดับเฉลี่ย 31.7866 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.02 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.59 บาท/ลิตร) ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.98 บาท/ลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.15 บาท/ลิตร

ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 7 มิถุนายน 63 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 57,200 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 22,652 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 34,548 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน 40,852  ล้านบาท บัญชี LPG  -6,304  ล้านบาท

สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอดีเซล (B100) ราคาน้ำมันไบโอดีเซลอ้างอิงเฉลี่ย วันที่ 8-14 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 25.93 บาทต่อลิตร ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.22  บาทต่อลิตร โดยราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 1-5 มิถุนายน 2563 ราคาผลปาล์มเฉลี่ยอยู่ที่ 3.20 - 3.70 บาทต่อ กิโลกรัม โดยราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 21.75 – 22.25 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณสต๊อกคงเหลือ (หักน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ.) ณ สิ้นเดือน เม.ย. ประมาณ 282,511 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 103,566 ตัน

“โอเปกพลัส” ขยายกำลังผลิตส่งราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนสต็อกน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ณ สิ้นเดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 46,478 ตัน ปริมาณการผลิตไบโอดีเซล ณ สิ้นเดือน เม.ย. อยู่ที่ 4.55 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 5.7% และปริมาณการใช้ไบโอดีเซล ณ สิ้นเดือนเมษายนอยู่ที่ 4.74 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมีนาคมร้อยละ 11 ความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ลดลง จากมาตรการการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19

ราคาเอทานอลอ้างอิง ในเดือนมิถุนายน 2563 ยังอยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร ไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นราคาซื้อขายแบบระยะยาวของผู้ค้า จากการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีการใช้รถยนต์เพิ่มมากขึ้น ทำให้การใช้เอทานอลปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปริมาณการใช้เอทานอลภาคเชื้อเพลิง ในวันที่ 1-17 พฤษภาคมอยู่ที่ 3.49 ล้านลิตรต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.57 ล้านลิตรต่อวัน