"ระวี รุ่งเรือง"พ้นเก้าอี้ ส.ว.เหตุเคยผิดวินัยร้ายแรง

10 มิ.ย. 2563 | 09:42 น.

"ระวี รุ่งเรือง"หลุดเก้าอี้ส.ว. ศาลรธน.ชี้ขาดคุณสมบัติเหตุเคยต้องโทษถูกไล่ออกจากราชการ เข้าลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง เจ้าตัวน้อมรับ 

วันที่ 10 มิ.ย.2563 ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของ นายระวี รุ่งเรือง สมาชิกวุฒิสภา อดีตนายกสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทยและเลขานุการคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 111 (4) ประกอบมาตรา 108 ข จากกรณีมีลักษณะต้องห้ามตาม( 1) มาตรา 98 (8) และมาตรา 82 วรรคสี่ เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่  2 ธ.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกกต.โดยมีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกวุฒิสภาของนายระวี รุ่งเรือง  ส.ว.ลำดับที่ 146 นายกสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทยและเลขานุการคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 111 (4)ประกอบมาตรา 108 ข .ลักษณะต้องห้าม(1) มาตรา 98(8) และมาตรา 82วรรคสี่  ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นร้อง

จากกรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้วพบว่า ก่อนนายระวีได้รับการสรรหา และแต่งตั้งเป็นส.ว. เคยถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการฐานประพฤติชั่วร้ายอย่างร้ายแรง ตามคำสั่งกรมการปกครองที่ 689/2539  ลงวันที่ 15 ส.ค. 2539 กรณีกระทำการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกอาสารักษาดินแดน อันเป็นพฤติกรรมในทางทุจริต

                                                          "ระวี รุ่งเรือง"พ้นเก้าอี้ ส.ว.เหตุเคยผิดวินัยร้ายแรง

ประกอบกับศาลปกครองสูงสุด เคยมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.778/2558 วางหลักไว้ว่า การเรียกและรับเงินจากผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับราชการเพื่อเป็นค่าวิ่งเต้นให้ได้เข้ารับราชการนั้น เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและความร้ายแรงแห่งกรณีอยู่ที่ระดับเดียวกับกรณีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ด้วยเหตุดังกล่าวนายระวีจึงเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามเป็นส.ว.ตามมาตรา 108 ข .ลักษณะต้องห้าม(1) มาตรา 98(8)         

แม้ในเวลาต่อมานายระวีจะได้รับการล้างมลทินตามพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 และพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ก็มีความหมายเพียงว่า นายระวีไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าความประพฤติหรือการกระทำของผู้ถูกร้องที่เป็นเหตุให้ถูกลงโทษทางวินัยถูกลบล้างไปด้วยแต่อย่างใด ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2539 ที่ได้วางหลักไว้ในกรณีเช่นดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่มีเหตุให้สมาชิกภาพส.ว.ของนายระวี สิ้นสุด

นายระวี  กล่าวหลังรับคำฟังคำวินิจฉัย ว่า ยอมรับและเคารพคำวินิจฉัยที่ออกมา แต่ก็ยังมีประเด็นคาใจโดว่า ตนเคยถูกลงโทษทางวินัยครั้งแรกลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้นในปี 36 ต่อมาปี 39 เดือนมิ.ย.มีพ.ร.บ.ล้างมลทิน ออกมา แต่อนุกรรมการข้าราชการพลเรือนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กลับมีมติในเดือน ส.ค.39 ให้เพิ่มโทษตนเป็นไล่ออกจากราชการ ทั้งที่ตามพ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 39 กำหนดห้ามมีการเพิ่มโทษบุคคลที่ได้รับโทษทางวินัยไปบางส่วนแล้ว  

ตนจึงเห็นว่าเมื่อพ.ร.บ.ล้างมลทินปี 39 มีการกำหนดห้ามเพิ่มโทษแล้ว ตนก็ต้องไม่เป็นผู้ถูกโทษไล่ออกจากราชการ  ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงเรื่องนี้ในคำชี้แจงที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้านี้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ได้พิจารณาก็ไม่เป็นไร  พร้อมเคารพ