"คมนาคม" สั่งกรมราง อัพระบบรางในไทย ลุยแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.

10 มิ.ย. 2563 | 09:36 น.

“คมนาคม” สั่งกรมราง เดินหน้าอัพระบบรางในไทย หวังเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งราง เตรียมพิจารณาฟื้นฟูกิจการ ร.ฟ.ท. เร่งขยายโครงข่ายระบบขนส่งทางรางไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดเมืองรองให้มีการต่อเชื่อมกัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีคล้ายวันสถาปนากรมการขนส่งทางราง (ขร.) #ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ว่า ระบบรางจะเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีความสำคัญมาก และเป็นระบบหลักในการเดินทาง ดังนั้นสิ่งที่ ขร.ต้องทำให้ได้คือ กล้าคิดกล้าทำ อย่าเดินทีละขั้นบันได ให้ไปศึกษาว่าประเทศทั่วโลกทำอย่างไร เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของระบบขนส่งทางรางอย่างไรให้ประชาชน รวมทั้งภาคเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจทั้งในและนอกประเทศ ให้สามารถใช้ระบบขนส่งทางรางของไทยได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ให้พิจารณาด้วยว่ายังมีกฎหมาย หรือกฎระเบียบใดที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ให้รีบแก้ไข

 

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า  ขณะเดียวกันให้พิจารณาเรื่องการฟื้นฟูกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ว่าจะมีวิธีการอย่างไร ต้องกล้าที่จะดู เพราะเชื่อว่ารัฐวิสาหกิจในกระทรวงคมนาคมมีความได้เปรียบเอกชนในความเป็นรัฐ แต่เหตุใดจึงบริหารแล้วขาดทุน ซึ่งมั่นใจว่าถ้าทุกหน่วยงานทำด้วยความชัดเจน โปร่งใส และใช้หลักธรรมาภิบาล ก็จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เน้นย้ำให้แก้เรื่องนี้ให้ได้ และพร้อมสนับสนุนในวิธีการแก้ไข ดังนั้น ขร. ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ อะไรที่เป็นปัญหาต้องทลายทุกข้อจำกัด

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งพิจารณากันมาแล้วกว่า 210 ครั้ง ใกล้ที่จะได้ข้อสรุปแล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายใน 3 เดือน หรือประมาณเดือน ก.ย.63 จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาภายในปลายปีนี้ และสามารถประกาศใช้กฎหมายได้ในต้นปี 64 อย่างไรก็ตามสำหรับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของ ขร.นั้น ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมย้ำชัดว่า อย่าก้าวทีละเสต็ป เมื่อเกิดมาช้าแล้วต้องทำงานแบบก้าวกระโดด โดยให้เร่งดำเนินการออกมาตรการเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมมาตรฐานในด้านต่างๆ ดูแลเรื่องความปลอดภัยของจุดตัดต่างๆ ระหว่างถนน และรถไฟ ซึ่งมีอยู่ 2,600 จุดทั่วประเทศ

นอกจากนี้ให้เร่งขยายโครงข่ายระบบขนส่งทางรางไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดเมืองรองให้มีการต่อเชื่อมกัน ซึ่งปัจจุบันไทยมีระบบเครือข่ายรถไฟอยู่เพียง 47 จังหวัด จาก 77 จังหวัด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เน้นย้ำอยากให้ทุกจังหวัดได้เข้าถึงระบบราง และให้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาบริหารใช้ในการจัดการเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ปลอดภัย และต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในอนาคตจากรถไฟดีเซลราง ก็ต้องเปลี่ยนเป็นระบบรถไฟฟ้าทั้งประเทศ