อสังหาฯขอนแก่น เข้าสู่ "สภาวะชะลอตัว"

10 มิ.ย. 2563 | 08:30 น.

ศูนย์ REIC วิเคราะห์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่ภาวะปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์ – อุปทาน ขณะจังหวัดขอนแก่นน่าห่วง หลังอัตราดูดซับต่ำลง ดีมานด์ชะลอตัว

อสังหาฯขอนแก่น เข้าสู่ "สภาวะชะลอตัว"

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ รายงานสรุปผลการสำรวจอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดมหาสารคาม โดยนับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย จากการสำรวจพบว่าในพื้นที่ 5 จังหวัด มีโครงการที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขายจำนวนรวมประมาณ 14,853 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของ 26 จังหวัดที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้สำรวจในช่วงครึ่งหลังปี 2562 โดยแบ่งเป็นจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 6,876 หน่วย จังหวัดขอนแก่นจำนวน 4,031 หน่วย จังหวัดอุดรธานีจำนวน 1,727 หน่วย จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 1,464 หน่วย และจังหวัดมหาสารคามจำนวน 755 หน่วย 
 
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามามีบทบาทความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และช่วงปีที่ผ่านภาพรวมของตลาดยังคงเป็นของที่อยู่อาศัยแนวราบ 

 

จังหวัดขอนแก่นเข้าสู่ภาวะชะลอตัว
 
จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกจังหวัดหนึ่ง และมีทิศทางการพัฒนาเมืองที่ชัดเขนพื้นที่หนึ่ง โดยภาพรวมโครงการที่อยู่อาศัยจังหวัดขอนแก่น ณ ครึ่งหลังปี 2562 อุปทานภาพรวมมีที่อยู่อาศัยเสนอขายจำนวน 79 โครงการ รวม 4,031 หน่วย ในจำนวนดังกล่าวมีโครงการที่ขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังจำนวน 435 หน่วย มูลค่า 1,268 ล้านบาท ลดลงจากครึ่งแรกของปี 2562 ร้อยละ -41.1 แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 10.4 มีหน่วยเหลือขายจำนวน 3,596 หน่วย มูลค่า 11,574 ล้านบาท และมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขาย จำนวน 804 หน่วย มูลค่า 2,737 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรร จำนวน 499 หน่วย มูลค่า 1,802 ล้านบาท โครงการอาคารชุด จำนวน 305 หน่วย มูลค่า 935 ล้านบาท  

ทั้งนี้ ทำเลซึ่งมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ทำเลบึงแก่นนคร จำนวน 255 หน่วย 2.ทำเล ม.ขอนแก่น จำนวน 210 หน่วย และ 3.ทำเลบึงหนองโครต จำนวน 92 หน่วย 

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากภาพรวมพบว่าอัตราดูดซับลดต่ำลงจากครึ่งแรกของปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.8  ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปี ซึ่งลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยมีอัตราดูดซับร้อยละ 3.1 ในปี 2563 คาดการณ์ว่าอัตราดูดซับจะลดต่ำลงต่อเนื่องมาอยู่ในอัตราร้อยละไม่เกินร้อยละ 1.0 ส่วนโครงการเปิดขายใหม่คาดว่าจะไม่เกิน 600 หน่วย แต่ด้วยจำนวนอุปทานสะสมรอการขายจะส่งผลให้ตลาดโดยรวมชะลอตัว