กลุ่มอสังหาฯ งัด “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" ระดมทุน-จ่ายดอกเบี้ยสูง

13 มิ.ย. 2563 | 07:35 น.

สมาคมตราสารหนี้มอง "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" ให้ดอกเบี้ยสูง ปัจจุบันคงค้าง 11 บริษัท รวมมูลค่า 101,000 ล้านบาท ชี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่ากู้สินเชื่อสถาบันการเงิน แม้ถูกลดอันดับเครดิต แต่ไม่เพิ่มระดับหนี้ต่อทุน 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากกำลังซื้อที่หายไป ทั้งจากคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ทำให้มีโครงการค้างสต๊อกจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเร่งหาแหล่งทุน ทั้งนำมาขยายธุรกิจ ต่อยอด และชำระหนี้หุ้นกู้ ซึ่งเคยเป็นแหล่งเงินสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ โดยปี 2563 มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนของกลุ่มอสังหา ริมทรัพย์ประมาณ 94,000 ล้านบาท จึงเห็นมีหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างเสนอขายหุ้นกู้ เพื่อนำไปชำระคืนรุ่นเดิม (Roll over) หลังจากช่วง 5 เดือนแรกมีการ Roll over แล้ว 50,000 ล้านบาท ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงปกติ

ขณะที่การเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไม่กำหนดอายุ(Perpetual Bond) เริ่มกลับมาอีกครั้ง จากกระแสความนิยม แม้ว่าจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ด้วยผลตอบแทนที่สูง จูงใจให้นักลงทุนเข้าซื้อสะสม เพราะดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับตํ่าและตลาดหุ้นผันผวนสูง ล่าสุดที่ออกหุ้นกู้เป็น Perpetual Bond คือบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) ด้วยอัตราดอกเบี้ย 8.5%

นายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI)เปิดเผยว่า บริษัทจะเสนอขาย Subordinated Perpetual Bond หรือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ให้กับผู้ลงทุนทั่วไประหว่างวันที่ 22-25 มิถุนายน 2563 ไม่เกิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยช่วง 5 ปีแรกอยู่ที่ 8.50%ต่อปี กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยมีมีอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ที่ BBB+/Negative และอันดับความเชื่อถือของหุ้นกู้อยู่ที่ BBB- จัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การเสนอขายหุ้นกู้ Perpetual Bond ด้วยดอกเบี้ยที่สูงเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากหุ้นกู้ประเภทนี้มีความเสี่ยงคือ การด้อยสิทธิและผู้ออกสามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ โดยไม่ผิดสัญญา ซึ่งจากเงื่อนไขดังกล่าวมีความจำเป็นที่ต้องเสนอผลตอบแทนที่จูงใจ อีกทั้งภาวะที่ยังไม่เข้าสู่ปกติในช่วงนี้ การตั้งดอกเบี้ยตอบแทนที่สูงจึงเป็นระดับที่ปกติ เพราะหลายบริษัทจะตั้งดอกเบี้ยตอบแทนในระดับที่สูงอยู่แล้ว แม้ช่วงอยู่ในช่วงปกติ

กลุ่มอสังหาฯ งัด “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" ระดมทุน-จ่ายดอกเบี้ยสูง

“มูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ Perpetual Bond ปัจจุบันอยู่ที่ 11 บริษัท รวม 101,000 ล้านบาท โดยบริษัทที่เสนอขาย จะยอมรับความเสี่ยงด้วยการถูกลดอันดับเครดิตลง 2 อันดับ ซึ่งจะมีทั้งอันดับเครดิตที่ A หรือ A+ จึงชดเชยด้วยการตั้งผลตอบแทนที่สูง และชดเชยเพิ่มขึ้น 30-50% จากอัตราดอกเบี้ยตอบแทนของหุ้นกู้ธรรมดา ทั้งนี้ ความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นกู้ดังกล่าว คือ บริษัทมีสภาพคล่องดี ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อถือได้ อีกทั้งมีการไถ่ถอนได้เมื่อครบ 5 ปี”

อย่างไรก็ตาม ผู้ออกหุ้นกู้ Perpetual Bond ช่วงนี้มีความเป็นไปได้ว่า มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินทุนเพิ่ม ซึ่งลักษณะเด่นของการออกหุ้นกู้ Perpetual Bondคือ ไม่เพิ่มภาระหนี้สินต่อทุน (ดีอี) ให้กับผู้ออก เพราะนับเป็นทุนได้ 5 ปี หากใช้การระดมทุนจากการกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน อาจมีเงื่อนไขกำหนดให้ระดับดีอีสูงขึ้น รวมถึงบางบริษัทอาจจะไม่เข้าเงื่อนไข ทำให้การออกหุ้นกู้เป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มอี ธนาคารทหารไทยหรือ TMB Analytics กล่าวว่า การระดมทุนด้วยหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ซึ่งไม่มีอายุสัญญา มีลักษณะตราสารหนี้กึ่งทุน จะให้ผลตอบแทนสูงเป็นธรรมดา ซึ่งอาจเทียบกับหุ้นกู้อายุ 5 ปีไม่ได้ เพราะหุ้นกู้ด้อยสิทธิมีอายุตลอดชีพ จึงจ่ายดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เพื่อจูงใจในการซื้อ

ทั้งนี้หากดูอัตราผลตอบแทน (Corporate Bond Yield) ตั้งแต่เริ่มเข้าช่วงโควิด ทุกอันดับความน่าเชื่อถือหรือ เรตติ้งของหุ้นกู้อายุ 5 ปีขึ้นไป ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก เห็นได้จากหุ้นกู้กลุ่มระดับลงทุน(Investment Grade) โดยระดับ AAA ต้นทุนเพิ่มขึ้น 0.57% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 1.88% มาอยู่ที่ 2.45%ต่อปีณ สิ้นเดือนพฤษภาคมปีนี้เรตติ้ง BBB เพิ่มขึ้น 0.5% จาก 4.19% มาอยู่ที่ 4.70% ต่อปี สะท้อนตลาดมีความเสี่ยงสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการขายที่ออกมามากกว่าความต้องการซื้อ 

“ในแง่ผู้ซื้อยังปลอดภัย หากกลุ่ม BBB อยู่ในเงื่อนไขของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตอนนี้ถ้าบริษัทที่มีสถานะปริ่ม Investment grade เป็นประเภทหุ้นกู้ อายุ 5 ปีต้นทุนอยู่ที่ 4.70%ต่อปีแล้ว”

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563