การคลังที่ไม่มีความยั่งยืน

10 มิ.ย. 2563 | 03:37 น.

โดยสมหมาย ภาษี


การคลังที่จะพูดถึงในวันนี้ คือการคลังของประเทศไทย ที่ประกอบด้วยการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่ชักหน้าไม่ถึงหลังแม้ต้องจัดทางบประมาณขาดดุลมาทุกปีเป็นเวลานานมาเป็นสิบๆ ปีแล้วก็ตาม ทำให้การจัดบริการสาธารณะที่จำเป็นให้แก่ประชาชน ในด้านการสาธารณสุข ด้านที่อยู่อาศัย ด้านสวัสดิการสังคม ต่างก็ไม่มีอะไรจะดีขึ้น ตรงกันข้ามกลับเลวร้ายลงเพราะคนจนเพิ่มขึ้นมาก

จากการระบาดของโควิด 19 ในครั้งนี้ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าคนจนและเกษตรกรของไทยที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่จะดำรงชีพได้เท่าที่ควร ที่ต้องหาเช้ากินค่ำไปตลอดชีวิต และที่แทบจะไม่มีเงินจะเลี้ยงชีพได้ นั้น มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66 ล้านคน หรือมีจำนวนถึงสองในสามของประชากรที่อยู่ในวัยทำงานของประเทศทั้งสิ้น 38 ล้านคน มาถึงวันนี้ยังไม่เห็นมีหน่วยงานไหน มีสถาบันไหน มีพรรคการเมืองไหน มีรัฐบาลไหน ที่จะสามารถบอกให้ประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีทั้งหลายรู้ว่าเมื่อไหร่พวกคนจนของประเทศจะลืมตาอ้าปากได้ยกเว้นเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว มีระดับรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเคยพูดว่าคนจนในประเทศไทยจะหมดไปในสองสามปีข้างหน้า

การคลังของประเทศต้องรวมถึงการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลด้วย ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่นำมาใช้ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนนั้น ไม่เคยพอกับความต้องการของรายจ่ายที่จะประคับประคองประเทศให้คืบหน้าไปได้ ทั้งนี้เพราะรายได้จากการส่งกำไรคืนคลังของรัฐวิสาหกิจที่มีงบประมาณปีหนึ่งๆ เกือบเท่างบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล สามารถส่งรายได้ให้คลังได้เพิ่มขึ้นเพียงปีละ 2-3% เท่านั้น

ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรทั้ง 3 กรม คือกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร นั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเก็บเป็นเม็ดเงินเพิ่มได้เฉลี่ยปีละ 7.2% แค่นั้นเอง นี่รวมอัตราเงินเฟ้อแล้วนะครับ และมีข้อเท็จจริงที่เห็นชัดว่ายิ่งเก็บยิ่งถดถอยเมื่อมีภาวะวิกฤตโลกมากระทบ เช่น วิกฤตซับไพรม์ (Subprime Crisis) ในช่วงปี 2550-2551 วิกฤตสงครามการค้าโลกที่เกิดตั้งแต่กลางปี 2561-ปัจจุบัน และขณะนี้เมื่อได้เกิดวิกฤตจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด 19 ในปี 2563 การจัดเก็บรายได้ตามปกติของรัฐบาลก็จะออกอาการติดลบหรือเก็บได้น้อยลงจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด

เหตุที่รัฐบาลชุดไหนๆก็ไม่เคยคิดจะเพิ่มรายได้โดยการจัดเก็บภาษีเพิ่มเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกัน เพราะรัฐบาลไทยกลัวเสียคะแนนนิยมครับ ยิ่งรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติก็ยิ่งกลัวหนัก ได้แต่หวังจะมีรายได้เพิ่มจากค่าสัมปทานใหม่ๆ เช่น ค่าสัมปทานจากแหล่งก๊าซธรรมชาติ ค่าสัมปทานจากการประมูลระบบโทรคมนาคม คือ 4G และ 5G เป็นต้น เสียของจริงๆ

ไม่เก็บรายได้เพิ่มยังไม่พอ ในช่วงตั้งแต่ปี 2559 หรือช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในสมัยที่เป็นรัฐบาล คสช. และรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ได้นำภาษีหลายประเภทที่แสนจะต่ำต้อยอยู่แล้วไปลดหย่อนให้แก่ประชาชนและธุรกิจผู้เสียภาษีบางกลุ่มอย่างมากมายหลายวาระ โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อไปทำการกระตุ้นการลงทุนบ้าง กระตุ้นการบริโภคบ้าง หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของนักลงทุนกับต่างประเทศ เป็นต้น

การเสนอเรื่องลดหย่อนภาษีของทีมเศรษฐกิจในแต่ละครั้งต่อคณะรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากอาชีพทหารซึ่งไม่ค่อยมีความรู้เรื่องภาษีเพื่อพิจารณานั้น ผู้เสนอซึ่งแน่นอนมาจากรองนายกฝ่ายเศรษฐกิจทั้งสิ้น ไม่เคยได้สำนึกว่าสิ่งที่ได้เสนอให้รัฐบาลตัดสินใจเห็นด้วยในแต่ละครั้งนั้น มันเป็นเสมือนของมีคมที่ทิ่มแทงเข้าไปในเนื้อของคนจนทั้งประเทศ

ทิ่มแทงยังไงหรือ เพราะมาตรการลดภาษีแทบทุกเรื่องทำให้รายได้ของรัฐที่จะเก็บมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาราษฎร์ต้องหดหายไป ยิ่งกว่านั้นส่งผลทิ่มแทงเข้าไปถึงเด็กไทยที่ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ เพราะการที่รายได้จากภาษีของไทยเพิ่มในอัตราที่น้อยกว่าประเทศอื่นในระดับเดียวกัน ทำให้แต่ละปีรัฐบาลยิ่งต้องกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณมากขึ้นๆอย่างปีงบประมาณ 2563 นี้ ก็มียอดเงินกู้ดังกล่าวถึง 469,000 ล้านบาท หรือเกือบเท่ากับ3% ของ GDP

คาดเดาได้เลยว่าในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 63 – กันยายน 64) นี้ ก็จะมีความต้องการกู้เงินชดเชยงบประมาณถึง 600,000-700,000 ล้านบาท ซึ่งจะเกินกว่ากรอบวินัยการคลังที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 3% ของ GDP เพราะ GDP ทั้งปี 2563 และ 2564 จะติดลบ ทำให้รายได้ของรัฐบาลที่จะจัดเก็บได้ต่ำมาก ซึ่งก็จะเป็นการเน้นการไม่มีความยั่งยืนด้านการคลังให้ชัดขึ้นไปอีก เดาได้เลยว่าในการพิจารณางบประมาณปี 2564 นี้ รัฐจะตกที่นั่งลำบากเหมือนอยู่ในระหว่างเขาควายอีกครั้งหนึ่ง

ในภาวะที่เห็นๆอยู่ชัดยิ่งกว่าชัดว่าในปี 2563 นี้ เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะผิดเป้าไปมาก ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการระบาดของโควิด 19 แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลนี้จะไม่แยแสว่าการจัดเก็บรายได้แผ่นดินจะตกอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงอย่างไร จู่ๆก็เหมือนกับการราดน้ำมันเข้าไปในกองไฟที่มีเชื้อลุกอยู่แล้วบ้างให้ลุกโชนเข้าไปหนักขึ้น โดยเมื่อวันอังคารที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ก็ได้มีมติให้ลดอัตราต่างๆในการเก็บภาษีทรัพย์สิน ซึ่งมีกฎหมายที่เสร็จพร้อมจะเริ่มมีการจัดเก็บในเดือนสิงหาคมนี้ โดยภาษีทรัพย์สินดังกล่าวเป็นภาษีที่จะมาทดแทนภาษีบำรุงท้องที่ที่สุดจะล้าหลังให้มีประสิทธิผลทั้งในการเพิ่มรายได้ให้แก่ท้องถิ่นทั้งหมดของยอดที่เก็บ เป็นการช่วยลดภาระของเงินอุดหนุนที่รัฐบาลกลางต้องช่วยท้องถิ่นจำนวนมากปีหนึ่งๆ กว่า 250,000 ล้านบาท และยังเป็นมาตรการสำคัญในการกระจายความเหลื่อมล้ำของสังคมด้วย

ภาษีทรัพย์สินนี้ทำกันมาไม่น้อยกว่า 6 ปี และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอยู่แล้ว จะมีผลให้ประชาชนที่มีทรัพย์สินจ่ายภาษีมาช่วยคนจนและท้องถิ่นในเดือนสิงหาคม 2563 นี้ ทั้งๆที่ภาษีนี้ได้มีการเลื่อนด้วยเหตุผลต่างๆนานามากมายโดยตัวรัฐบาลเอง ถ้าเช็คดูในรายละเอียดจริง การเลื่อนในกระบวนการร่างกฎหมายนี้ การทำให้เกิดความล่าช้าทั้งปวงดูเห็นได้ไม่ยากว่ามาจากการเออออของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น มาคราวนี้ก็เช่นกันไม่ได้ให้เลื่อนออกไปแต่จะลดอัตราการจัดเก็บลง 90% แทนที่จะก่อให้เกิดรายได้แก่ท้องถิ่นได้ 39,000 ล้านบาทต่อปี ในปีนี้จะถูกลดเหลือรายได้เพียง 4,000 ล้านบาท แล้วจะใช้ภาษีนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ ในการพัฒนาท้องถิ่น ในการเพิ่งการจ้างงานในท้องถิ่น ในการกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและตลอดจนการกระจายรายได้ เป็นต้น การกระทำครั้งนี้คิดว่าเป็นการช่วยคนจนเพื่อให้ได้คะแนนนิยมอย่างนั้นหรือ มันเป็นการทำร้ายคนจนต่างหาก

การคลังที่ไม่ยั่งยืนเท่าที่เป็นมา หาดูได้ไม่ยากจากผลการจัดเก็บรายได้เมื่อเทียบกับเป้าหมายของการจัดเก็บที่กำหนดไว้ในงบประมาณแต่ละปี ในระยะใกล้ๆ นี้ดูได้จากปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 61-กันยายน 62) ได้ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในเอกสารงบประมาณไว้ 2.731 ล้านล้านบาท แต่สามารถจัดเก็บได้จริง 2.563 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 168,000 ล้านบาท ต่อมาในปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 62 – กันยายน 63) คือปีนี้ที่กำลังจะสิ้นปีงบประมาณในอีก 3 เดือนเศษ ได้ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในเอกสารงบประมาณไว้ 2.777 ล้านล้านบาท การเก็บจริงได้มีการประกาศออกมาโดยกระทรวงการคลังเร็วๆนี้ เฉพาะครึ่งปีแรก (ตุลาคม 62 – มีนาคม 63) ที่เก็บได้ 1.144 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 1.3% ถือว่าไม่มากนัก แต่ในช่วงครึ่งหลังนี่ซิครับ (เมษายน 63 – กันยายน 63) เป็นช่วงที่ผู้คนต้องอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ ธุรกิจต้องปิดตัวแทบทุกอย่าง การบินไทยต้องหยุดบิน โรงแรมแทบทั้งหมดต้องปิดเพราะไม่มีคนเข้าพัก การกีฬา และสันทนาการหยุดหมด

 

เชื่อได้ว่าการจัดเก็บรายได้ทั้งปีของปีงบประมาณ 2563 ที่จะสิ้นปีในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จะมียอดการจัดเก็บต่ำกว่าปีที่แล้วที่จัดเก็บจริงได้ 2.536 ล้านล้านบาทไม่น้อยกว่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 2.731 ล้านล้านบาท เป็นจำนวนถึง 315,000 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าถึง 11.5% ซึ่งถ้าเป็นจริงก็ถือว่าสภาวะการคลังของประเทศไทยได้ถูกกระทบให้บิดเบี้ยวไปทั้งโดยโควิด 19 และโดยการไม่แยแสต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน นี่แหละที่จะพูดได้เต็มปากว่าเป็น “การคลังที่ไม่ยั่งยืน”

เป็นเรื่องที่น่าขำขันมากเมื่อได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตัดทอนงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปแล้วในปีงบประมาณ 2563 นี้ ของกระทรวงต่างๆ จำนวนรวมกันประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อไปโปะเข้ากับงบกลางไว้สู้กับโควิด 19 และก็ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ถ้ารายได้ที่จะจัดเก็บได้ในปีงบประมาณ 2563 นี้ จะต่ำกว่าเป้าถึง 315,000 ล้านบาท จริงๆขึ้นมาแล้วรัฐบาลจะหาเงินที่ไหนมาจ่าย นอกจากจะต้องหาทางกู้เงินโดยวิธีฉุกเฉิน หรือไม่ก็ต้องไปตั้งงบชดเชยไว้ในงบประมาณประจำปี 2564

ซึ่งข้อเท็จจริงก็ปรากฏให้เห็นแล้วอย่างชัดแจ้งว่าโครงสร้างของงบประมาณปี 2564 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณา และได้มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันอังคารที่ 7 มกราคม 2563ไปแล้วว่า จะตั้งงบไว้ 3.3 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีนี้ 100,000 ล้านบาท โดยประมาณการว่าจะจัดเก็บรายได้จ านวน 2.777 ล้านล้านบาท จะมีการกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล 523,000 ล้านบาท แต่ในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 63 – กันยายน 64) นี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า GDP จะติดลบต่อเนื่องไปจากปีนี้ คงจะหดตัวลงอีกไม่น้อยกว่า -5% ดังนั้น ถ้าขืนตั้งงบประมาณไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ก็จะยิ่งยุ่งตาย (ห่า) แน่ๆ เดือนกันยายนที่จะถึงนี้คงไม่นานเกินรอที่จะได้พบได้เห็นกัน

ฟังเรื่องราวของมาตรการทางภาษีที่ไม่มีสิ่งใดได้ถูกกระทำในทางบวกตั้งแต่ตัวท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 มาจนถึงวิกฤตขนาดนี้ท่านได้ละเลยเรื่องภาษีออกไปเกือบหมดได้ลงคอ ผมได้พิจารณาแล้วไม่แน่ใจว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะยังมองไม่เห็นหายนะทางเศรษฐกิจไทยที่กำลังเกิดขึ้นก็ได้เพราะตัวท่านพูดให้ประชาชนและสื่อฟังอยู่หลายครั้งว่า เศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ จะแย่ได้อย่างไรในเมื่อเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ (International Reserves) ของไทยยังมีมากอยู่ ซึ่งขณะนี้มีถึง 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 ล้านล้านบาท มากเกือบครึ่งของ GDP ทั้งปีหรือมากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ตั้งไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ถึงสองเท่า

ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว เวลาการคลังของประเทศไม่มีความยั่งยืนอย่างที่เห็นอยู่นี้ จะเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ล้นเหลือมาช่วยในด้านการคลังไม่ได้เลยนะท่าน ผมว่าถ้าท่านนายกรัฐมนตรียังเข้าใจผิดในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ทราบว่านักธุรกิจหรือนักวิชาการคนไหนได้ดิวให้ท่าน ก็ต้องถือว่าเป็นกรรมของประเทศไทยและของคนไทยอย่างใหญ่หลวงจริงๆ