เสริมภูมิคุ้มกันธุรกิจ ต้านโควิด-19 ด้วยไอที

13 มิ.ย. 2563 | 09:35 น.

คอลัมน์บทความ โดย สุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,582 หน้า 5 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน 2563

 

ไม่มีใครคาดคิดว่า ไวรัสโควิด- 19 จะสร้างพลังทำลายล้างและสร้างภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก

จากการเปิดเผยของไอดีซี ชี้ว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงสุดเป็นอันดับแรกจากการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ ธุรกิจการขนส่งและภาคบริการซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่เว็บไซต์ บลูมเบิร์ก ได้รายงานตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ที่สูงถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปแล้ว ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต้องอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจ ชนิดเรียกว่าเป็นบาซูก้าทางการคลัง เลยทีเดียว

เมื่อแนวทางลดการแพร่กระจายของโรค คือ การหยุดการเคลื่อนย้ายของคน และการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นการทำงานจากบ้าน (Work From Home) ขณะที่ธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังต้องไปต่อ องค์กรที่มีการเตรียมแผนบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Plan) การออกแบบระบบไอทีและระบบข้อมูลสำรองที่ดี เพื่อให้พนักงานสามารถเชื่อมเข้าสู่ระบบและทำงานจากที่ไหนก็ได้อย่างปลอดภัย ย่อมได้เปรียบต่อการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น โรคระบาด หรือภัยพิบัติ 

มองมุมบวก ถือเป็นจังหวะดีที่องค์กรจะได้ปัดฝุ่นแผนบริหารธุรกิจในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตรวจเช็คเทคโนโลยีเดิม เพิ่มเติมเทคโนโลยีใหม่ อาทิ คลาวด์ แพลตฟอร์มออนไลน์ โซเชียลมีเดีย การประชุมแบบเสมือน เป็นต้น เพื่อสร้างพื้นที่การทำงานแบบเสมือน หรือ Virtual Workplace เพื่อให้พนักงานยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แม้ไม่สามารถเข้าไปยังสำนักงานได้ และถือโอกาสเรียนรู้ไปพร้อมกับพนักงานในการพัฒนาศักยภาพการทำงานและธุรกิจผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามแนวทางเวอร์ช่วลไลเซชัน ซึ่งจะกลายเป็นวิถีปกติ (New Normal) สำหรับองค์กรยุคดิจิทัลในอนาคต

คลาวด์ คอมพิวติ้ง นับว่าเป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมต่อการรองรับ การทำงานจากระยะไกล (Remote Workforce) เพราะคลาวด์ถูกสร้างมาให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมการทำงานแบบเวอร์ช่วลไลเซชัน และยังรองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตหลากหลายชนิด จึงมีความยืดหยุ่น และคล่องตัวสูง ทำให้องค์กรสามารถ “เติม-ปรับ-ปัน” ทรัพยากรไอทีในระบบ ให้สอดคล้องกับมาตรการรักษาระยะห่างที่อาจเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินธุรกิจ

ตัวอย่างเช่น การหยิบเอา Cloud VDI (Cloud Virtual Desktop Infrastructure) ซึ่งใช้เทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชันในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ BYOD ของพนักงาน ทั้งเครื่องพีซี แล็บท็อป อุปกรณ์โมบายด์ต่างๆ ให้กลายเป็นเครื่องเดสก์ท็อปเสมือน (Virtual Desktop) เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางสามารถแจกจ่ายทรัพยากรไอทีให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานของแต่ละคน

เช่น การเพิ่มซีพียู หน่วยความจำ หรือพื้นที่จัดเก็บข้อมูลให้กับงานบางประเภท การอัพเกรดหรือควบคุมการติดตั้งซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชันต่างๆ อย่างถูกต้อง คอยสอดส่องการใช้อุปกรณ์ BYOD ต่างๆ เพื่อลดการติดไวรัสหรือมัลแวร์ ควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลหรือป้องกันการลักลอบนำข้อมูลออกไป รวมถึงมีระบบสำรองและกู้คืนข้อมูลเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ (disaster Recovery)

 

เสริมภูมิคุ้มกันธุรกิจ ต้านโควิด-19 ด้วยไอที

 

แนวทางการใช้-รับมือ ข้อมูลและแอปพลิเคชัน จากการทำงานนอกสำนักงานโดยอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงาน ปัจจุบัน มีแพลตฟอร์มการทำงานและการจัดการธุรกิจบนคลาวด์ให้เลือกใช้ได้ตามงบประมาณ และมีความปลอดภัยสูงในรูปแบบของการให้บริการไอที (SaaS) บริการแพลตฟอร์ม (PaaS) แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์โมบายด์ หรือ เว็บแอปพลิเคชัน อาทิ โปรแกรมพื้นฐานในการจัดการเอกสารทั่วไปอย่าง เวิร์ด สเปรดชีท เช่น ออฟฟิศ 365 แพลต ฟอร์มการบริหารงานองค์กรและลูกค้า เช่น อีอาร์พี เอชอาร์ การวิเคราะห์ข้อมูล ซีอาร์เอ็ม เป็นต้น 

 

ทำให้เกิดข้อมูลปริมาณมากผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้องค์กรอาจต้องเตรียมการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประมวลผลข้อมูล ระบบบริหารจัดการใช้งานศูนย์ข้อมูลจากระยะไกล หรือ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและระบบจัดเก็บข้อมูลสำรองบนคลาวด์ เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึง แชร์ใช้ และจัดเก็บไฟล์ข้อมูลต่างๆ ได้สะดวกและรวดเร็วไม่ต่างกับการทำงานอยู่ในสำนักงาน และมีความปลอดภัยสูง

ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยให้ การใช้งานบริการไอที แอปพลิเคชัน บนเว็บหรืออุปกรณ์มือถือ หรือการใช้งานเครือข่ายภายในองค์กร ผ่านอุปกรณ์ BYOD มีความยืดหยุ่นและปลอดภัย อย่าง วีเอ็มแวร์ เวิร์คสเปซวัน (VMware Workspace One) สำหรับองค์กรที่เน้นความสำคัญเรื่องการควบคุมนโยบายและการปกป้องข้อมูล สามารถสร้างเครื่องมือระบุ ตัวตนชั้นป้องกันพิเศษ (Multi-Factor Authentication) ได้ ทั้งการใช้งานผ่านคลาวด์สาธารณะ หรือ คลาวด์ในองค์กร รวมถึง วีเอ็มแวร์ ฮอริซัน (VMware Horizon) ซึ่งช่วยสนับสนุน Cloud VDI ในการสร้างเดสก์ท็อปและแอปพลิเคชันแบบเสมือน (Virtual Desktop & Virtual Application) บนเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งทำให้พนักงานสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อทำงานจากที่ไหนก็ได้

การจัดแพลตฟอร์มการสื่อสาร ที่ปลอดภัยหลายช่องทางให้เลือกใช้ในการติดต่อทางธุรกิจระหว่างพนักงาน ผู้บริหาร คู่ค้า และลูกค้า อย่าง อีเมล์ ระบบส่งข้อความแบบทันที ระบบประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ หรือ เว็บ คอนเฟอเรนซ์ การเพิ่มช่องทางการสื่อสารเฉพาะกลุ่มทำงาน เช่น กรุ๊ปไลน์ ห้องแชทเฉพาะทีม (Team Room) รวมถึงดึงเอาศักยภาพของเครื่องมือดิจิทัล เช่น ไอโอที เอไอ วีอาร์ มาเสริมกิจกรรมการขายและสื่อสารการตลาด (Digital Marketing) การนำเสนอสินค้าและบริการผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อทดแทนการที่เราไม่สามารถเข้าถึงตัวลูกค้าได้โดยตรง

 

เสริมภูมิคุ้มกันธุรกิจ ต้านโควิด-19 ด้วยไอที

 

การทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตโดยผู้ใช้งานจากหลายตำแหน่งแห่งที่ หลากหลายแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน คงทำให้เราพอมองเห็นภาพปริมาณของข้อมูล และการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมาก ดังนั้น ประสิทธิภาพของระบบเครือข่าย จึงต้องรวดเร็ว โดยเฉพาะเแบนด์วิธ ซึ่งอาจไต่ระดับไปถึงการใช้เทคโนโลยี 5G 

 

อย่างไรก็ตาม ควรจัดสรรแบนด์วิธให้เหมาะกับข้อมูลและงานแต่ละประเภท เช่น ช่องแบนด์วิธที่ไม่สูงมากเอาไว้สำหรับการส่งไฟล์งานเอกสารทั่วไป ส่วนแบนด์วิธสูงๆ เอาไว้สำหรับการประชุมผ่านวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ การนำเสนอไฟล์พรีเซ็นเตชัน การใช้งานวีอาร์ หรือ เอไอ นอกจากนี้ อาจจัดการทำงานให้เหลื่อมเวลากันในการออนไลน์เข้าสู่ระบบ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งใช้แบนด์วิธจนทำให้ การทำงานล่าช้า หรือระบบล่ม

การตระหนักถึงความปลอดภัย ก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นการเชื่อมต่อการทำงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะนอกองค์กร ไม่ใช่เป็นการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ ระบบเครือข่ายภายใน ที่องค์กรมีอำนาจควบคุมนโยบายและระบบรักษาความปลอดภัยได้เต็มรูปแบบ 

ดังนั้น องค์กรควรพิจารณาถึงระบบความปลอดภัยของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ผู้ให้บริการแพลต ฟอร์มสาธารณะต่างๆ ร่วมด้วย รวมถึงมีมาตรการคุมเข้มเรื่องการระบุตัวตน สิทธิในการเข้าถึงระบบธุรกิจหลักหรือศูนย์ข้อมูลขององค์กรเฉพาะที่จำเป็นต่อการทำงาน และการตรวจสอบอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเพื่อป้องกันไม่ให้ภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตที่มาจากการใช้งานอุปกรณ์ BYOD ของพนักงานสามารถเจาะเข้าสู่ระบบไอทีขององค์กรในทุกทาง

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงตัวอย่างที่พอให้องค์กรได้เห็นภาพ การใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทำงานและธุรกิจจากสำนักงานสู่บ้านให้เกิดประสิทธิภาพและปลอดภัยได้ทุกที่ ทุกเวลา ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด และมาตรการเว้นระยะห่างที่คงอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ เทคโนโลยีไอทีจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยต่อติดชีวิตผู้คนในสังคม และต่ออายุธุรกิจให้ยืนระยะกันไปยาวๆ จนกว่าวันอวสานโควิด-19 จะมาถึง