“สมอ.” ทลายโรงงานเหล็ก “บ.ชิน สตีล” อายัดกว่า 146 ตันนำเข้าเถื่อน

08 มิ.ย. 2563 | 04:35 น.

“สมอ.” ทลายโรงงานเหล็ก “บ.ชิน สตีล” อายัดกว่า 146 ตันนำเข้าเถื่อน เผยตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 1 ปี พบมีการนำเข้ามาแล้ว 16 ครั้ง กว่า 2,100 ตัน มูลค่ากว่า 48 ล้านบาท

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ “สมอ.” ลงพื้นที่จังหวัดระยอง  หลังตรวจสอบพบว่า "บริษัท ชิน สตีล (ประเทศไทย) จำกัด" มีการนำเข้าเหล็กไม่ตรงกับที่ได้รับใบอนุญาตตาม "มอก." 2223-2558 เหล็กกล้าคาร์บอนทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีทางไฟฟ้า

และได้นำเหล็กดังกล่าวมาแปรรูปโดยการตัดเป็นแผ่น จำนวน 12,963 แผ่น น้ำหนักกว่า 15 ตัน และทำเป็นแผ่นแถบ จำนวน 84 ม้วน น้ำหนัก 131 ตัน เตรียมส่งจำหน่าย รวมน้ำหนักทั้งสิ้นกว่า 146 ตัน มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท จึงดำเนินการอายัดสินค้าทั้งหมดไว้เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ในฐานความผิดนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

“สมอ.” ทลายโรงงานเหล็ก “บ.ชิน สตีล” อายัดกว่า 146 ตันนำเข้าเถื่อน

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดในการตรวจควบคุมการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ภายหลังสถานการณ์ "โควิด 19" คลี่คลาย โดยเฉพาะเหล็กจากประเทศจีนที่คาดว่าจะทะลักเข้าไทยเป็นจำนวนมาก โดยการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดผ่านระบบ National Single Window หรือ NSW 

 

ทั้งนี้  การกระทำของบริษัท ชิน สตีลฯ ถือเป็นฐานความผิดนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการนำเหล็กมาแปรรูปถือเป็นการทำโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นกัน ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ

อย่างไรก็ดี  และจากการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าย้อนหลังของบริษัทดังกล่าวตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 - เดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า มีการนำเข้าเหล็กทั้งหมดจำนวน 16 ครั้ง น้ำหนักประมาณ 2,100 ตัน มูลค่ากว่า 48 ล้านบาท ซึ่ง สมอ. จะตรวจสอบโดยละเอียดว่ามีการทำผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบจะดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อไป

“สมอ.” ทลายโรงงานเหล็ก “บ.ชิน สตีล” อายัดกว่า 146 ตันนำเข้าเถื่อน

“สมอ. ได้ดำเนินการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเหล็ก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563 สมอ. ได้ยึดอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐานกว่า 742 ล้านบาท ซึ่งหากเหล็กดังกล่าวถูกนำไปใช้งานจะส่งผลเสียหายต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก จึงขอเตือนไปยังผู้ประกอบการทั้งผู้ทำ นำเข้า และร้านจำหน่าย ให้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน เพราะ สมอ. จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย”