ธปท.เอาแน่! คุมเงินบาทแข็ง สกัดเงินร้อนหวั่นทุบศก.ซํ้าโควิด

08 มิ.ย. 2563 | 03:15 น.

แบงก์ชาติฮึ่ม! นัดแบงก์ใหญ่ หาตัวช่วยคุมบาท หลังพบเงินร้อน 4 วันทะลักตลาดบอนด์ 1.4 หมื่นล้านบาท ทีเอ็มบีแนะผู้ส่งออกล็อกค่าเงิน ป้องกันเสี่ยง หลังสัญญาณต้นทุนทำฟอร์เวิร์ดกลับมาเป็นบวก อีไอซีประเมินเงินทุนไหลออกมีปริมาณน้อย สิ้นปีบาทอ่อนแตะช่วง 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาแทรกแซงค่าเงินบาทด้วยวาจาถึง 2 วันติดต่อกันในช่วงต้นเดือนมิ.ย. หลังจากเห็นสัญญาณ

การแข็งค่าของเงินบาทรวดเร็วและมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จนอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยังพร้อมที่ตรวจสอบการทำธุรกรรมของกลุ่มผู้ค้าทองคำและพิจารณาแนวทางการดำเนินมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และล่าสุดวันที่ 4 มิถุนายน ธปท.ได้เชิญธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เข้าหารือเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินและอีกหลายประเด็น ซึ่งคาดว่าธปท.จะมีเครื่องมือหรือมาตรการออกมาดูแลเกี่ยวกับการเข้ามาพักเงินระสั้น เกี่ยวกับธุรกรรมการซื้อหรือการขายทองคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะดำเนินมาตรการเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท

ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา นับจากเดือนมี.ค.-มิ.ย. เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 4.22% เป็นอันดับสองรองจากค่าเงินรูเปียห์ ของอินโดนีเซีีย และล่าสุด 5 มิ.ย.ยังพบว่า มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ถึง 14,400 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินทุนที่ไหลเข้ามารุนแรง และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 31.48 บาทต่อดอลลาร์ สหรัฐ แต่หากเทียบตั้งแต่ปลายปีก่อน ภาพรวมเงินบาทอ่อนค่าลง 5% (เทียบจาก 31.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 5 มิ.ย.63 กับสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 29.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)

 

แนะส่งออกล็อคค่าเงิน

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคาร ทหารไทย หรือTMB Analytics เปิดเผยว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเกิดจากการที่บริษัทในเครือต่างประเทศส่งเงินกลับ การชำระคืนสินเชื่อทางการค้าจากคู่ค้าต่างประเทศ และยังมีส่วนจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นมาก แต่แนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง จากการขาดดุลในเดือนเม.ย. เป็นการส่งสัญญาณว่า เงินบาทจะไม่มีแรงกดดันมากนักในระยะยาว โดยคาดว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า เงินบาทน่าจะกลับมาอ่อนค่าได้ จากเงินทุนที่จะไหลเข้าตลาดเงินมากกว่าการเกินดุลการค้าที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา

โดยเฉพาะช่วงนี้กลุ่มอาหารกำลังจะกลับมา เห็นได้จากเดือนเมษายน ที่สินค้าส่งออกของไทยที่ยังขยายตัวได้ดี ในกลุ่มอาหาร อาทิ ข้าว มียอดการส่งออกเติบโต 23% ผัก ผลไม้แช่แข็ง 5.7% ไก่แช่แข็ง 10% อาหารสัตว์ 3.4% ดังนั้น หากเงินบาทยังแข็งค่า นอกจากกำไรของผู้ส่งออกกลุ่มอาหารดังกล่าวจะหายไปตามการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว ยังทำให้กลุ่มนี้เสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

“ที่ผ่านมา มองว่าเป็นการเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดเงิน แต่พอเงินบาทแข็งค่ามาที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่า ทางธปท.น่าจะมีการดูแลอย่างเข้มข้น เพราะหากปล่อยให้เงินบาทแข็งต่อไปจะกระทบผู้ส่งออกกลุ่มอาหาร โดยมองว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 31.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือ 3 เดือนข้างหน้า”

 

อย่างไรก็ตาม แนะนำผู้ส่งออกให้เริ่มทำฟอร์เวิร์ดน่าจะดีกว่า เพราะสัญญาณ Swap Point หรือต้นทุนในการทำฟอร์เวิร์ดที่กลับมาเป็นบวก อยู่ที่ 2.25 สตางค์ต่อมูลค่าส่งออก ภายใต้สัญญา 6 เดือน ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกสามารถล็อกค่าเงิน ล็อคกำไรไว้ได้ เพราะต้นทุนซื้อฟอร์เวิร์ดสิ้นปี 2562 ติดลบ 12 สตางค์หรือกลางปีก่อนติดลบ 14 สตางค์ หรือผู้ส่งออกจะใช้โครงการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหรือ FX Option

ธปท.เอาแน่! คุมเงินบาทแข็ง สกัดเงินร้อนหวั่นทุบศก.ซํ้าโควิด

 

 

เงินไหลออกน้อย

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด EIC ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลง 6% สาเหตุเพราะไทยพึ่งพาทั้งการค้าและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่มองไปข้างหน้าคาดว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวทิศทางอ่อนค่า โดยสิ้นปีจะอยู่ในช่วง 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์ เพราะแนวโน้มไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาก จากดุลบริการที่หายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้คาดว่า จะหดตัว 75.3% คือ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 9.8 ล้านคน จากเดิมคาดไว้ที่ 13.1 ล้านคน บวกกับเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทระยะข้างหน้า แต่เงินบาทอาจไม่อ่อนค่ามากนัก เพราะดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่า 

นอกจากนี้ปัจจัยควบคุมโควิด-19 ที่ดีขึ้นและเริ่มทยอยเปิดเมืองทำให้ความกังวลต่อความเสี่ยงในตลาดเงินของนักลงทุนลดลง ประกอบกับแนวโน้มเงินทุนไหลออกจากไทยในปริมาณมากมีโอกาสน้อยในระยะต่อไป เพราะที่ผ่านมาเงินทุนไหลออกมากแล้ว

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ธปท.น่าจะอยู่ระหว่างติดตามธุรกรรมทางการเงินที่อาจจะมีผลต่อความผันผวนของเงินบาทใน 2 ส่วนคือ 1.ธุรกรรมของกลุ่มผู้ค้าทองคำ โดยเฉพาะช่วงที่ปริมาณส่งออกทองคำอยู่ในระดับสูง 2.การทยอยกลับเข้าซื้อพันธบัตรระยะต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งสะท้อนการพักเงินระยะสั้นอีกครั้งของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า

หนุนบาทแตะ33-34

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ต่อภาคการส่งออกของไทยในเวลานี้ ซึ่งมีส่วนสำคัญจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า รวมถึงการเก็งกำไรจากการส่งออกทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีส่วนสร้างแรงกดดันทำให้เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทยที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 

“อยากฝากธปท.ช่วยดูแลค่าเงินบาทอย่าให้แข็งค่ามาก เพราะจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้น กระทบความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง หากถามว่าต้องการเงินบาทที่เท่าใด เราอยากให้อยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่แข็งค่าไปมากกว่าสกุลเงินของคู่แข่งขันมาก”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,581 วันที่ 7 - 10  มิถุนายน พ.ศ. 2563