จีนยั๊วะสหรัฐฯ กล่าวหาถือครองอธิปไตยทะเลจีนใต้มิชอบ

06 มิ.ย. 2563 | 08:54 น.

จีนยั๊วะสหรัฐฯ ร้อง UN กล่าวหาว่าถือครองอธิปไตยโดยมิชอบในทะเลจีนใต้ ชี้มหาอำนาจภายนอกภูมิภาคไม่ควรเข้ามาแทรกแซง

วันนี้ ( 6 มิ.ย.63) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกระทรวงการต่างประเทศจีนแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่สหรัฐฯ ได้ส่งคำร้องถึงสหประชาชาติ (UN) กล่าวหาว่าจีนถือครองอธิปไตยโดยมิชอบในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

จีนยั๊วะสหรัฐฯ กล่าวหาถือครองอธิปไตยทะเลจีนใต้มิชอบ

1. เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.63นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน  แถลงโต้ตอบนายไมเคิล ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่กล่าวผ่านทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.63 ว่า สหรัฐฯ ได้ส่งจดหมายร้องเรียนถึงเลขาธิการสหประชาชาติ (Secretary General of the United Nations) เพื่อประท้วงจีนถือครองอธิปไตยโดยมิชอบในทะเลจีนใต้ พร้อมทั้งเรียกร้องประเทศสมาชิกสหประชาชาติให้มีความสามัคคี ในการปกป้องกฎหมายระหว่างประเทศและเสรีภาพทางทะเล โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ชี้แจงว่า

     1.1 อธิปไตยเหนือดินแดนและสิทธิโดยชอบเหนือทะเลจีนใต้ (โดยจีนเรียกว่า หนานไห่南海) ซึ่งเป็นของจีนมาตั้งแต่อดีตยาวนาน และถูกยืนหยัดต่อกันมาในรัฐบาลทุกสมัยของจีน โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ (International law) เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ (United Nations Charter) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ( United Nations Convention on the Law of the Sea : UNCLOS) เป็นต้น ดังนั้น ย่อมไม่ถูกเปลี่ยนแปลงจากการประณามโดยไม่มีเหตุผลของบางประเทศ 

     1.2 สหรัฐฯ ไม่ใช่คู่กรณีในข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะไม่ยอมปฏิบัติตามคำมั่นต่อความเป็นกลางในปัญหาข้อพิพาทนี้แล้ว กลับยังก่อความวุ่นวายและทำกาท้าทายทางทหารในทะเลจีนใต้อยู่เสมอ อันเป็นการก่อกวนความสัมพันธ์ของประเทศในภูมิภาคนี้ โดยไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพและความมั่นคงของทะเลจีนใต้

 

2ข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินนโยบายของจีนต่อทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจจำแนกได้ ๔ ประการ กล่าวคือ

         2.1 มุ่งพิทักษ์อธิปไตย ความมั่นคง และสิทธิประโยชน์ทางทะเลของจีน ซึ่งในระยะหลังจีนจะแสดงจุดยืนในการปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนและสิทธิประโยชน์ของตนเองอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ทั้งนี้ เนื่องจากอาณาบริเวณทะเลจีนใต้มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมถึงทรัพยากรทางทะเลจำนวนมาก ดังนั้น จีนจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกคุกคาม และเน้นการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธีผ่านการปรึกษาหารือและเจรจา ภายใต้แนวคิด “สงวนข้อพิพาท ร่วมกันบุกเบิกพัฒนา” บนพื้นฐานของการเคารพในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

        2.2 มุ่งดำรงรักษาเสถียรภาพและศักยภาพของทะเลจีนใต้ในการเป็นเส้นทางหลักระดับยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของโลก เนื่องจากสินค้าที่ขนส่งทางทะเลทั่วโลก40% ได้ส่งผ่านเส้นทางนี้ และจีนเป็นประเทศที่ใช้ประโยชน์จากเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้สำหรับการค้าและการลำเลียงพลังงานของจีนมากถึง70% - 80% รวมทั้งเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับกองทัพเรือจีนในการออกสู่ทะเลในระยะไกลมากขึ้น และช่องทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้น จึงต้องเน้นการรักษาเสรีภาพการเดินเรือและความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือ

        2.3 มุ่งการใช้ประโยชน์ร่วมกันของจีนกับประเทศรอบข้างในทะเลจีนใต้ โดยการพิทักษ์สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ซึ่งจีนแสดงจุดยืนที่จะไม่แสวงหาอำนาจเพื่อครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งสภาวะแวดล้อมที่มีเสถียรภาพอันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนตามแผนที่กำหนดไว้

 

จีนยั๊วะสหรัฐฯ กล่าวหาถือครองอธิปไตยทะเลจีนใต้มิชอบ

โดยจีนได้ใช้ความพยายามในหลายด้าน อาทิ (1) เสนอให้มีการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกับประเทศรอบข้างมากขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจกัน (2) ให้บริการสาธารณะในทะเลจีนใต้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงและความผาสุกของภูมิภาคนี้ (3) ผลักดันแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea) กับประเทศอาเซียน เพื่อร่วมกันกำหนดกฎระเบียบของภูมิภาคนี้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในระยะยาว จีนในฐานะประเทศใหญ่สุดในบรรดาประเทศที่อยู่รอบชายฝั่งทะเลจีนใต้ จะเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง และการรักษาสันติภาพของทะเลจีนใต้ รวมทั้งมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการขับเคลื่อนการแก้ไขข้อพิพาทด้วยการเจรจา

     2.4มุ่งการใช้ประโยชน์ร่วมกันของจีน-สหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ โดยการรักษาเสรีภาพความปลอดภัยในการเดินเรือ รวมทั้งการทำให้ประเทศในภูมิภาครอบชายฝั่งทะเลจีนใต้มีเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งจีนได้ย้ำถึงจุดยืนที่สำคัญว่า จีนและสหรัฐฯ ไม่มีข้อพิพาทใดต่อกันในทะเลจีนใต้

ดังนั้น จีนและสหรัฐฯ จำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นจากสภาวะที่ยากลำบากและความเข้าใจผิดในเรื่องความมั่นคงที่เกิดจากปัญหาทะเลจีนใต้ ด้วยการเจรจาและกำหนดจุดมุ่งหมายของกันและกันให้กระจ่างแจ้ง

ในขณะที่จีนมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางทะเล ทั้งนี้ สภาพที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของทะเลจีนใต้ได้ถูกกำหนดให้กลายเป็นจุดสนใจของการแข่งขันระหว่างประเทศ รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ และที่สำคัญทะเลจีนใต้เป็นแนวป้องกันทางยุทธศาสตร์สำหรับการป้องกันชายฝั่งของจีน

บทสรุป ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่22  ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.62นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้กล่าวเน้นว่า จีนจะจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea หรือ COC) ระหว่างจีน-อาเซียน ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ.๒๕๖๔ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกันในทะเลจีนใต้

โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2545 จีนและชาติสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea หรือ DOC) ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติกว้างๆ ในการใช้ทะเลจีนใต้ร่วมกัน

นอกจากนี้ จีนได้เน้นย้ำจุดยืนที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในทะเลจีนใต้อย่างสันติโดยคู่กรณีพิพาท ดังนั้น ประเทศมหาอำนาจภายนอกภูมิภาคจึงไม่ควรเข้ามาแทรกแซง เนื่องจากจะทำให้ปัญหาทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น