คุกมีไว้ขัง “คนจน&หมา” เมื่ออสส.ไม่อุทธรณ์คดีโอ๊ค

06 มิ.ย. 2563 | 03:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3581 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-10 มิ.ย.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

คุกมีไว้ขัง “คนจน&หมา”

เมื่ออสส.ไม่อุทธรณ์คดีโอ๊ค!

 

          ถึงตอนนี้สำนักงานอัยการสูงสุด หน่วยงานที่แยกตัวออกมาจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ไปเป็น “หน่วยงานราชการอิสระ” ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงใด แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง กำลังถูกสังคมตราหน้าว่า เป็นทนายความแผ่นดินที่ทำลายกระบวนการยุติธรรม “ลู่ไหวตามลม ขี้ทื่อ ไร้คม”

          การเปลี่ยนจาก “กรมอัยการ” มาเป็น “สำนักงานอัยการสูงสุด” เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารงานยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับทนายความของแผ่นดินให้มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ป้องกันมิให้อิทธิพลทางการเมือง มาก้าวก่ายการดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนมากขึ้น มิได้ทำให้มีศักดิ์ศรีที่ดีขึ้นมาแม้แต่น้อย

          นโยบายในการบริหารงานของ “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” นิติศาสตร์รามคำแหง ผู้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดคนแรก ที่ประกาศไว้ 3 ข้อหลัก

          1.อำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ คุ้มครองสิทธิ์ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา

          2.บูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อค้นหาความจริงเชิงรุกให้สามารถขจัดข้อขัดแย้งและกรณีพิพาทได้อย้างมีประสิทธิภาพ ตลอดทั้งตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลและประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

          3.สนับสนุน ส่งเสริมให้ข้าราชการ บุคลากร ยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม มีจิตอาสา พัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง

          นโยบายดังกล่าว กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก ป้องปากซุบซิบกันว่า นโยบายดังกล่าวเป็น “ไม้หลักปักขี้เลน” ทำไมนะหรือครับ!

          เพราะการสั่งไม่อุทธรณ์คดีใหญ่ที่สำคัญ 2 คดี ของคน “ตระกูลชินวัตร” กลายเป็นคำถามดังๆ ของผู้คนในสังคมว่า “อัยการสูงสุด ทำลายกระบวนยุติธรรมของประเทศ” ไปแล้ว

          กรณีแรก เดือนกันยายน พ.ศ.2554 นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฎีกา คดีเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่า 546 ล้านบาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน และกรณีให้จำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญา 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธาน บมจ.ชินคอร์ป เป็นเรื่องที่สังคมสงสัยว่าอัยการสูงสุดมีวาระซ่อนเร้น

          การตัดสินใจไม่ฎีกาของอัยการสูงสุด เป็นเสมือนการฆ่าตัดตอนกระบวนการยุติธรรม ตัดโอกาสที่คดีนี้จะได้รับการพิสูจน์ให้ถึงที่สุดว่า นายบรรณพจน์ คุณหญิงพจมาน และ นางกาญจนภา จงใจเลี่ยงภาษีหรือไม่

          เป็นการฆ่าตัดตอนทางคดีด้วยมือ “ทนายความแผ่นดิน” ทั้งๆ คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นตรงกันว่า นายบรรณพจน์ เลี่ยงภาษี แต่เห็นต่างกันในเรื่องบทลงโทษ ซึ่งศาลชั้นต้นให้จำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่ศาลอุทธรณ์ลดโทษเหลือ 2 ปี และให้รอลงอาญา 1 ปี กับปรับ 1 แสนบาท

          ส่วนคุณหญิงพจมาน และ นางกาญจนาภา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เลี่ยงภาษีจริงและลงโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นเดียวกัน แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทั้งสองคน

          ผู้คนก่นด่ากันยับว่า จุลสิงห์ อัยการสูงสุด ทำตัวเป็นศาลฎีกาเอง ด้วยการไม่นำตัวบุคคลผู้เลี่ยงภาษีเป็นเงินจำนวนมากมาลงโทษ ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างของสังคม

          ทั้งๆ ที่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการหลีกเลี่ยงในคดีนี้มีจำนวนสูงถึง 273,060,000 บาท ไม่สมควรรอการลงโทษ จำคุกจำเลยที่ 1 อาศัยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 (1 ) จึงขอทำความเห็นแย้งไว้

          เห็นมั่ยว่า คนตระกูลชินวัตรกับอัยการสูงสุดนั้น มีประวัติศาสตร์

          กรณีที่สอง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คดีฟอกเงินทุจริตเงินปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย 10 ล้านบาท

          คำสั่งชี้ขาดดังกล่าว ลงนามโดย เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดคนที่หนึ่ง รักษาราชการเเทนนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ซึ่งขณะนั้นเดินทางไปราชการในพื้นที่ภาค 7 มีคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดี

          โดยระบุว่า สำนวนดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาความเห็นเเย้ง ได้ทำความเห็นว่า ควรไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว ส่งมายังอัยการสูงสุด โดยมีนายเนตร ซึ่งรักษาราชการแทนพิจารณาแล้ว มีความเห็นควรไม่อุทธรณ์คดีต่อศาลสูงตามที่สำนักงานชี้ขาดคดีทำความเห็นส่งมา โดยมีการชี้ขาดไปเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา

          การสั่งไม่อุทธรณ์คดีของอัยการสูงสุด ที่ขัดกับนโยบาย “วงศ์สกุล” ในข้อ 2.ว่า จะบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อค้นหาความจริงเชิงรุกให้สามารถขจัดข้อขัดแย้งและกรณีพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขนาดอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งความเห็นแย้งว่า ยังมีประเด็นสำคัญที่ควรต้องนำสู่การพิจารณาของศาลสูงเพื่อวินิจฉัย จึงมีความเห็นควรให้นำคดีขึ้นสู่ศาลสูง และส่งความเห็นให้อัยการสูงสุดชี้ขาด ไปเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2563 แต่ไร้ผล

          ไร้ผลขนาดว่า สำนักงานอัยการสูงสุดไม่นำพาคำตัดสินของ “ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี” คือ คุณศิริพร กาญจนสูตร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษาฉบับเต็ม

          ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่ปกติจะได้รับความไว้วางใจเชื่อถือมากกว่าองค์คณะ ทำความเห็นแย้ง และชี้ประเด็นข้อเท็จจริง ว่า... จำเลยจึงรู้หรือควรรู้ว่าเงิน 10 ล้านบาท ที่ได้รับมาจากนายวิชัย เป็นเงินส่วนหนึ่งของสินเชื่อธนาคารกรุงไทย ที่อนุมัติให้เครือกฤษดามหานคร การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5 (1) (2) พิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี”

          ไร้ผลขนาดไม่มีการนำพาคำตัดสินของศาลอาญาคดีทุจริตฯ มาพิจารณาในเรื่องเงิน 10 ล้านบาท ของ พ่อโอ๊ค-พานทองแท้ ที่ศาลตัดสินไว้มาพิจารณา…

          เงินก้อนนี้นายพานทองแท้ ต่อสู้คดีโดยอ้างว่าเงิน 10 ล้านบาท ได้จากการร่วมลงทุนในธุรกิจรถหรู หรือ ซูเปอร์คาร์ กับ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชายนายวิชัย และผู้ต้องขังคดีเดียวกับบิดาของเขา โดยไม่รู้ว่าเงินดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือมีการนำมาฟอกเงิน จึงถือเป็นการรับ "เงินบริสุทธิ์"

          แต่ศาลเห็นว่า เงิน 10 ล้านบาทนี้ นายวิชัยได้จากการกระทำความผิดตามมูลฐานความผิดของกฎหมายฟอกเงิน ไม่ว่าจะเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินไปกี่ครั้ง และเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ยังถือว่าเป็นเงินและทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำความผิดตามมูลฐานความผิดต่อไป ไม่ใช่ "เงินบริสุทธิ์" ตามที่จำเลยยกมาต่อสู้ 

          ทว่าผลลัพธ์ที่ได้คือ โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร พ้นผิดในคดีที่เกี่ยวพันกับการฟอกเงิน 10 ล้านบาทไปแล้ว

          การตัดสินใจของรองอัยการสูงสุด เนตร นาคสุข ขณะรักษาการแทนอัยการสูงสุด “วงศ์สกุล” ที่เดินทางไปราชการที่ขอนแก่น จึงพิลึกกึกกือ...

          โปรดอย่าบอกประชาชนว่า...การเดินทางไปราชการต่างจังหวัด จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในคดีสำคัญได้ โปรดอย่าบอกประชาชนว่า คดีนี้ที่ไม่ต้องอุทธรณ์ เพราะไม่มีข้อสงสัยในเนื้อความคดีแม้แต่น้อย....ประชาชนไม่ได้กินหญ้า..

          แล้วทางออกเรื่องนี้อยู่ที่ไหน โน่น...ใครกังขาอยากทำความจริงให้ปรากฎต้องไปใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญไปร้องต่อป.ป.ช. หรือ ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ให้สอบสวนเอาเรื่องกับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีฟอกเงินของนายพานทองแท้ เพื่อเอาผิดในมาตรา 157 กับสำนักงานอัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ได้อย่างเดียว แต่พ่อโอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร พ้นคุกเรียบร้อยโรงเรียนชินวัตร

          ผมไม่ได้ยุ แต่ชี้ทางให้ครับ!