Roll over หุ้นกู้อสังหาฯ5 เดือน5 หมื่นล.

07 มิ.ย. 2563 | 02:30 น.

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเผย หุ้นกู้อสังหาฯปีนี้ครบดีล 94,000 ล้านบาท 5 เดือน Roll over เพียง 50,000 ล้าน เหตุโควิด-19 กระทบยอดขาย หลายบริษัทหันซบเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ มั่นใจครึ่งปีหลังฟื้น แนะผู้ออกหุ้นกู้ ทำตลาดขายรายย่อยเพิ่มขึ้น 

เข้าช่วงเดือนสุดท้ายของครึ่งปีแรกปี 2563 จากที่ผ่านมาทั้งตลาดเงินและตลาดทุน ถูกกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เหลือ 0.50% ต่อปี ซึ่งในยุคของดอกเบี้ยขาลง จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกลุ่มอสังหา ริมทรัพย์รวมถึงมาตรการต่างๆที่รัฐบาล นำออกมาช่วยเหลือ ยังเป็นแรงหนุนให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง แต่ยังต้องจับตาการออกหุ้นกู้ของกลุ่มอสังหา ริมทรัพย์ ที่มีการออกเสนอขายกันอย่างล้นหลามในอดีตที่ผ่านมา 

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2563 มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนของกลุ่มอสังหา ริมทรัพย์อยู่ที่ 94,000 ล้านบาท โดยช่วง 5 เดือนแรก มีการออกหุ้นกู้รุ่นใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิม (Roll over)ราว 50,000 ล้านบาท ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงปกติ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดมาตรการLockdown ส่งผลต่อการเสนอขาย และจองซื้อของนักลงทุน เพราะยังต้องมีการใช้เอกสารในการซื้อขาย

Roll over หุ้นกู้อสังหาฯ5 เดือน5 หมื่นล.

อย่างไรก็ตามมองว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown แนวโน้มการออกหุ้นกู้ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาดีขึ้น แต่ต้องดูภาวะเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย แม้ที่ผ่านมา ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้หันไปหาแหล่งเงินทุนด้วยการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่า รวมถึงชะลอพัฒนาโครงการของหลายบริษัท ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินและถือครองเงินสดน้อยลง แต่มองว่า โอกาสที่จะกลับมาระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ยังมีอยู่มาก จากข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน โดยเฉพาะบริษัทที่มีอันดับเครดิตที่ดี เพราะไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการคํ้าประกัน

“หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดปีนี้ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 81% เป็นกลุ่มระดับลงทุนที่มีเรทติ้งตั้งแต่ AA A- จนถึง BBB ซึ่งมองว่า ยังมีการเสนอขายได้อยู่ แม้ว่าอาจจะมีบ้างที่ขายไม่หมด หรือไม่เต็มวงเงิน รวมถึงกลุ่มที่มีเรทติ้ง ก็ยังคงเห็นการเสนอขายปกติ เพราะการเสนอขายของแต่ละบริษัทจะมีกลุ่มนักลงทุนของตัวเองที่จะเสนอขายอยู่แล้ว ทั้งนี้ มองว่าหลังจากคลาย Lockdown ก็จะยิ่งดีกว่าเดิม เนื่องจากนักลงทุนยังคงเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับตํ่า และบางบริษัทยังคงออกหุ้นกู้ในอัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนบริษัทที่มีการขอยืดอายุการชำระหนี้ออกไป มองว่ายังไม่เป็นความเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้ แต่อาจจะกระทบกับความน่าเชื่อถือหากจะมีการออกใหม่”

สำหรับการลงทุนโดยรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งปีหลัง หากมองในแง่ของสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 อาจจะยังน่าเป็นห่วง เพราะบริษัทที่สายป่านยาว อาจจะหมดกระสุน และธนาคารพาณิชย์จะยังมีเงินเพียงพอต่อการให้สินเชื่อหรือไม่ ขณะที่ กรณีที่ไม่มีการระบาดซํ้า ตลาดจะกลับมาฟื้นตัวได้คึกคัก โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีคุณภาพสูงยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ทั้งนี้ แนะนำให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้ ควรทำตลาดในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น จากในปัจจุบันที่มีสัดส่วนการซื้อของรายย่อยเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีตที่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากสถาบัน หรือสหกรณ์ 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทิสโก้ จำกัดระบุว่า กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติลดภาษีที่ดินพร้อมทั้งเลื่อนการชำระเงินออกไป 1 ไตรมาส เนื่องจากผลของการระบาดโควิด-19นั้น มองว่า กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะได้รับผลกระทบตํ่ากว่ากลุ่มอื่นเนื่องจากได้รับยกเว้นเป็นเวลา 3 ปี และผู้ประกอบการเอง ก็ได้มีการชะลอการซื้อที่ดินเพื่อรอดูกฎหมายผังเมืองใหม่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การขายที่ดินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่รายเนื่องจากเงินที่ได้ จากการขายที่ดินจะถูกแปลงเป็นกำไร ซึ่งจะช่วยให้กำไรเพิ่มขึ้นได้ 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,581 วันที่ 7 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563