หุ่นยนต์-TeleMed New Normal เฮลธ์เทคไทย

04 มิ.ย. 2563 | 10:24 น.

    สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ทำให้คนไทยยอม รับในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งนอกจากการนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันแล้ว เทคโนโลยีด้านสุขภาพก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่คนไทยกำลังตื่นตัว โดยเฉพาะการเดินหน้าพัฒนา หุ่นยนต์ และนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างออกมาให้การสนับสนุนเพื่อสอดรับวิถี New Normal หลังวิกฤติ โควิด-19
 
Hapybot หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์
    ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 การสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรทาง การแพทย์ที่มีงานล้นมือ ซึ่งเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์มีส่วนช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก จึงถูกนำมาใช้ ในโรงพยาบาลเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ ช่วยลดการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ และลดความเสี่ยงของบุคลากร ซึ่ง หุ่นยนต์ Hapybot มีจุดเด่น อาทิ การเคลื่อนที่อิสระด้วยตัวเองในการขนส่งยา วัคซีนและเวชภัณฑ์การแพทย์รวมถึงสิ่งของอื่นๆ, มีหน้าจอสําหรับพยาบาลเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วย สามารถพูดคุยสนทนาแบบเห็นหน้าได้, สั่งการผ่านหน้าจอสัมผัสบนตัวหุ่นยนต์, มีความเร็วในการเคลื่อนที่ 2.5-3 กม./ชม. หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้อัตโนมัติ, สร้างแผนการเดินทางได้อัตโนมัติด้วย AI ทํางานต่อเนื่อง 3 ชม. และกลับแท่นชาร์จอัตโนมัติเมื่อทํางานเสร็จ เป็นต้น
    สำหรับ หุ่นยนต์ Hapybot นั้นเป็นความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล-สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้สนับสนุนการใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้มอบ หุ่นยนต์ Hapybot จำนวน 3 ตัว เพื่อนำไปใช้งานจริงภายในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล 3 แห่ง คือ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

หุ่นยนต์-TeleMed  New Normal เฮลธ์เทคไทย

การแพทย์ฉุกเฉินวิถีใหม่ 
    ด้านนายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ล่าสุดทางทรูนั้นได้มีการผนึกกำลังกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์มาใช้ผ่านเครือข่าย 5G โดยการสร้างการแพทย์ฉุกเฉินวิถีใหม่ หรือ ER New Normal เพื่อเป็นมาตรฐานใหม่ให้กับหน่วยงานแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล อื่นๆ แห่งแรกในไทย ซึ่งเทคโนโลยีระบบฉุกเฉินวิถีใหม่ หรือ ER New Normal นั้นจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ลดความแออัดในโรงพยาบาล
    ทั้งนี้ตัวอย่างนวัตกรรมด้านการแพทย์ ที่ใช้งานผ่านเครือข่าย 5G ในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ประกอบด้วย True 5G MedTech Ambulance : อุปกรณ์รถพยาบาลฉุกเฉินอัจฉริยะ ที่ช่วยติดตาม และสื่อสารระหว่างแพทย์ที่โรงพยาบาลกับภายในรถฉุกเฉินเพื่อจัดเตรียมการรักษาได้ทันท่วงที, AR Professional Consult Powered by True 5G : ระบบการเชื่อมต่ออัจฉริยะ สำหรับใช้สื่อสารระหว่างแพทย์ฉุกเฉินและแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์เฉพาะทางจะเห็นภาพในมุมมองเดียวกันจากแว่นที่แพทย์ฉุกเฉินใส่ ทำให้สามารถให้ความเห็นได้อย่างแม่นยำ, True 5G Temi Connect & CareBot : หุ่นยนต์ สื่อสารอัจฉริยะ ลดการสัมผัส ช่วยส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เอกสาร บังคับได้จากระยะไกล, Nopparat Teleclinic Powered by True 5G: เทคโนโลยี Vhealth Platform แอพพลิเคชันคัดกรองให้คำปรึกษาและวินิจฉัยโรคโดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล

   อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ผ่านพ้นไป เชื่อว่าหลายคนจะคุ้นชินกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพของไทยที่พัฒนาไปอย่างก้าวลํ้า รวมถึงการมี หุ่นยนต์ เข้ามาให้บริการเพื่อลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่จะกลายมาเป็น New Normal ของคนไทย หลังช่วงวิกฤติ โควิด-19 

 

โดย : ภาพิมล ภูมิถาวร

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,580 หน้า 16 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน 2563