“สสว.” เล็งชง “สศช.” ช่วย “SMEs" นอกระบบแบงก์-NPL ผ่านวงเงิน 4 แสนล้านบาท

04 มิ.ย. 2563 | 09:30 น.

“สสว.” เล็งชง “สศช.” ช่วย “SMEs” นอกระบบแบงก์และเป็นNPL ผ่านวงเงิน 4 แสนล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท

นายวีระพงศ์  มาลัย  ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “สสว” เปิดเผยว่า ขณะนี้ สสว.กำลังเตรียมนำเสนอโครงการเพื่อจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบสถานการบันการเงิน หรือกู้เงินนอกระบบ  เรียกว่าเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้เลย และกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล (NPL) ผ่านโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท  ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่จะนำเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ "สศช." วันที่ 5 มิถุนายน 63

ทั้งนี้ งบประมาณที่จำนำมาช่วยเหลือกลุ่มยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ว่ามีมูลค่าเท่าใด  จะต้องขอพิจารณารายละเอียดของจำนวน SMEs ที่จะเข้าไปช่วยเหลือก่อนว่ามีจำนวนเท่าใด  โดยเบื้องต้นกลุ่มที่เป็นหนี้เสียพอจะมีข้อมูลเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว  แต่กลุ่มที่อยู่นอกระบบต้องรอตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน  ซึ่งเบื้องต้นจำนวน SMEs ทั้งระบบมีทั้งหมด 5 ล้านราย แบ่งเป็น SMEs ที่อยู่ในระบบประมาณ 3 ล้านราย และที่ไม่ได้อยู่นอกระบบประมาณ  2 ล้านราย

“สสว.” เล็งชง “สศช.” ช่วย “SMEs" นอกระบบแบงก์-NPL ผ่านวงเงิน 4 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี  ที่ผ่านมา สสว. เองได้ดำเนินการช่วยเหลือ SMEs ผ่านโครงการต่างๆ เช่น การดำเนินการร่วมกับธนาคารพัฒนาการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ "ธพว." (SME D Bank) ภายใต้วงเงิน 4.89 พันล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ  ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี มีระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี ซึ่งสามารถช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ได้ประมาณ 4 พันล้านบาท  โดยล่าสุดสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้แล้ว 2-3 พันล้านบาท

นอกจากนี้  หาก SMEs มาขอสินเชื่อแล้วติดปัญหาเรื่องของหลักทรัพย์การค้ำประกัน สสว. ก็มีวงเงินประมาณ 5 พันล้านบาท ที่ดำเนินการร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม หรือ "บสย.” เพื่อช่วยค้ำประกันให้กับ SMEs โดยเบื้องต้นสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้แล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเสริมได้ในทุกธุรกิจ