เล็งเลิกใช้ “พรก.ฉุกเฉิน” คุมโควิด-19

30 พ.ค. 2563 | 06:22 น.

“วิษณุ”แย้มหากเลิกใช้”พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” งัดพ.ร.บโรคติดต่อ-มติครม.คุมเข้มป้องกันโควิด-19 หากเอาไม่อยู่ประกาศฉุกเฉินใหม่ เตรียมงัด “พ.ร.บ.โรคติดต่อ” รองรับแทน “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” สำหรับใช้ควบคุมสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ต่อไป

วันนี้ (30 พ.ค.63)  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ศึกษาเพื่อรองรับกรณีหากมีการยกเลิกประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ว่า นายกฯ มอบหมายให้ตนไปหารือ หลังจากพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานกลางของ ศบค. เสนอนายกฯว่าจำเป็นต้องมีการพิจารณาจะใช้กฎหมายใด หรือออกมาตรการอะไรมารองรับ หลังจากเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมีความละเอียดอ่อน  หากเลิกประกาศใช้ไปแล้วไม่มีสิ่งใดมารองรับจะเกิดปัญหาตามมา

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาเกิดปัญหา ก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีกครั้ง ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ดังกล่าว ที่บัญญัติว่ากรณีที่จำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการเองได้ก่อน จากนั้นจึงไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วัน หากไม่ขอครม.ภายในกำหนดถือว่าประกาศสถานการณ์นั้นสิ้นสุดไป

“ตัวพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะเป็นกฎหมายแม่ที่ยังคงอยู่ แต่เมื่อจะใช้บังคับต้องออกกฎหมายลูก คือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่นายกฯต้องขอความเห็นชอบจากครม. และหากยกเลิกประกาศใช้ไปแล้ว ต่อมาเกิดปัญหาแต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงที่สุด ก็ไม่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก แต่สามารถนำมาตรการอื่นมาใช้ได้ ซึ่งไม่ใช่กฎหมายความมั่นคง เพราะสามารถใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการได้  แต่อาจเกิดความลักลั่นในบางกรณี ดังนั้น อาจออกมติครม.มาอุดช่องโหว่ในเรื่องตรงนี้ได้ เนื่องจากต้องปฎิบัติตามมติครม.”

ส่วนมาตรการที่จะออกมารองรับนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จากสถาบันการศึกษา และจากกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกันพิจารณา