“ไทยอยู่ในอันดับ1 ของประเทศที่เหมาะ เริ่มต้นทำธุรกิจ”

01 มิ.ย. 2563 | 07:30 น.

ฯพณฯ นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นท่านทูตสหรัฐคนแรกที่มาจากภาคเอกชน จึงเป็นนักการทูตที่ทั้ง "รู้ใจ" และ "รู้จัก" ความต้องการของภาคธุรกิจเอกชนเป็นอย่างดี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่านทูตให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เปิดเผยมุมมองเกี่ยวกับศักยภาพของประเทศไทยในฐานะ ฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทอเมริกันในภูมิภาคอาเซียน และการเป็น ที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทาน ที่มั่นคง ปลอดภัย เชื่อถือได้ และคุ้มค่ากับการลงทุน

ฯพณฯ นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

ท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาส

ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และความตึงเครียดทางการค้าระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เป็นที่คาดหมายว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวหรือไม่ก็จะชะลอการเติบโตลงอย่างมาก แต่ท่ามกลางวิกฤติดังกล่าว ท่านทูตมองว่ามีโอกาสสำหรับความร่วมมือระหว่างสหรัฐและไทย

 

“ในทุกๆวิกฤติย่อมมีโอกาส และนั่นก็เป็นประเด็นที่ผมให้ความสำคัญและมีการหารือกับรัฐบาลไทย คือเราควรใช้โอกาสนี้ดึงดูดบริษัทอเมริกันเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงสองสามปีมานี้ บริษัทเอกชนจำนวนมากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับซัพพลายเชน ฐานที่ตั้งการผลิตและระบบโลจิสติกส์ว่าพวกเขาจะสามารถนำสินค้าที่ผลิตไปยังตลาดเป้าหมายได้อย่างสะดวกราบรื่นหรือไม่ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้พวกเขาต้องไตร่ตรองและพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับที่ตั้งฐานการผลิต”

ท่านทูตไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เป็นทูตสหรัฐประจำประเทศไทยท่านแรกที่มาจากภาคเอกชน

เมื่อพิจารณาในเรื่องนี้ ประเทศไทยมีโอกาสที่ดีอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และเชื่อถือได้ สำหรับการดำเนินธุรกิจ จากการเข้าพบหารือกับรองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองาม เมื่อเร็ว ๆนี้ ก็ยิ่งได้รับการยืนยันและความสนับสนุนจากภาครัฐของไทยที่ต้องการร่วมมือกันขับเคลื่อนการลงทุน และดึงดูดซัพพลายเชนจากสหรัฐมายังประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยและสหรัฐมีศักยภาพที่จะร่วมมือกัน ได้แก่ อุตสาหกรรมอากาศยานและการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้นภายในประเทศและลดการพึ่งพาต่างชาติ

 

พร้อมจับมือบีโอไอจัดกิจกรรมหลังวิกฤติโควิด

“นอกจากนี้ ยังมีโอกาสอันดีสำหรับอุตสาหกรรมขั้นกลางถึงขั้นสูง อาทิ การผลิตวัสดุที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอุตสาหกรรมขั้นต่ำนั้นเหมาะสมกับประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าประเทศไทย” เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านทูตยังได้มีโอกาสพบกับบริษัทผู้ผลิตวัสดุขั้นสูงจากสหรัฐอเมริกา ที่ยืนยันว่าจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทยซึ่งเป็นการลงทุนแรกของบริษัทรายนี้ในเอเชียหลังจากที่ได้มีการพิจารณาที่ตั้งโรงงานในประเทศอื่น ๆ ถึง 24 ประเทศ การก่อสร้างโรงงานจะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายนนี้ นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่สามารถเปิดเผยได้ในเวลานี้

 

“ก่อนหน้านี้ก็มีบริษัทอเมริกันหลายรายแล้วที่โยกย้ายการลงทุนมาในประเทศไทย บางรายอาจจะไม่เคยคาดคิดมาก่อน แต่เราจะได้เห็นแนวโน้มนี้เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นก็เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจที่จะทำ นั่นคือช่วยให้บริษัทอเมริกันเหล่านี้หันมาพิจารณาประเทศไทย” ท่านทูตกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงและการเดินทางระหว่างประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทางสถานทูตก็อยากจะจัดกิจกรรมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดกิจกรรมดึงดูดบริษัทอเมริกันเข้ามา

บริษัทอเมริกันตบเท้าเข้าไทย

ในบทความที่ท่านทูตเขียนเผยแพร่ทางสื่อและเว็บไซต์ของสถานทูตเมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ U.S. News and World Report จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศที่เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุด จากการสำรวจประจำปี 2563 โดยมีเกณฑ์การตัดสิน 5 ประการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล ระเบียบราชการ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ความเชื่อมโยง และการเข้าถึงเงินทุน นอกจากนี้ ไทยเป็นที่รู้จักดีในด้านคุณภาพของระบบการสาธารณสุข ซึ่งรับมือกับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ได้อย่างน่ายกย่อง

 

เมื่อปลายปี 2562 บริษัทการ์เดียน กลาส ธุรกิจชั้นแนวหน้าด้านการผลิตกระจกประหยัดพลังงานที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างอาคาร อุตสาหกรรมยานยนต์ และอื่น ๆ เป็นอีกตัวอย่างของบริษัทอเมริกันที่ดำเนินการผลิตในไทยมาตั้งแต่ปี 2534 และในปี 2562 บริษัทก็ได้เลือกกรุงเทพมหานครเป็นสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยเหตุผลที่ว่า "ไทยมีชื่อเสียงที่ดีทั้งในด้านการต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ" มีเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังขยายตัว และเป็นศูนย์กลางการส่งออกไปยังทั่วโลก

 

นอกจากนี้ บริษัทอลิอันซ์ ลอนดรี้ ของสหรัฐยังได้เปิดโรงงานในต่างประเทศแห่งล่าสุดที่ไทยเมื่อปีที่แล้ว โดยพิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ก้าวหน้าของไทยในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่น่าสนใจ รวมทั้งผลงานด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไทยได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,579 วันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563