อนุทิน แจงสภา จัดสรร พรก.กู้เงิน พัฒนาวิจัยวัคซีนต้านโควิด

28 พ.ค. 2563 | 10:12 น.

“อนุทิน” แจงสภา จัดสรร พรก.กู้เงิน ด้านสาธารณสุข 45,000 ล้าน พัฒนาวิจัยวัคซีนต้านโควิด นำประเทศก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านสาธารณสุขโลก

ในการประชุมสภาพิจารณา พรก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทวันที่สอง ตอนหนึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยขอบคุณสมาชิกทุกคนที่ให้กำลังใจรัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์และตนเองซึ่งจะเป็นพลังที่จะต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ก่อนชี้แจงในประเด็นต่างๆที่มีการตั้งข้อสังเกตจากสมาชิกฝ่ายค้าน อาทิ กรณีที่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายตำหนิรัฐบาลว่า ละเลยปล่อยให้มีกิจกรรมเสี่ยงให้คนจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าประเทศ อุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลน

นายอนุทิน ชี้แจงว่า นับตั้งแต่มีข่าวการระบาดของโรคนี้จากประเทศจีนตั้งแต่ปลายเดือนธ.ค.62 กระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคเปิดสวิตช์ทันที เตรียมองคาพยพให้พร้อมจนวันที่ 3 ม.ค. 63 มีการคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาประเทศไทยในจุดสำคัญ เช่น สนามบินและท่าเรือ นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็ทำการคัดกรองผู้ป่วยโดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศว่า พบผู้ป่วยนอกประเทศจีนรายแรกซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว และหลังจากนั้นมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวโดยกระทรวงสาธารณสุขทำการรักษานักท่องเที่ยวเหล่านั้นจนหายครบทุกคนสามารถเดินทางกลับประเทศได้

สิ่งที่ทำไปนี้เป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศไทย ประเทศจีนมีความซาบซึ้ง และชื่นชมประเทศไทยในการดูแลคนของเขาเป็นอย่างดี หลังจากนั้นได้รับการสนับสนุนทั้งเวชภัณฑ์ ยา ข้อมูล เทคโนโลยีต่างๆ จากประเทศจีนโดยตลอดจนถึงปัจจุบันนี้

สำหรับ พรก.กู้เงิน ในส่วนของด้านสาธารณสุขจำนวน 45,000 ล้านบาทนั้น เตรียมกระจายงบประมาณส่วนหนึ่งให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ค้นคว้าหาวัคซีนให้ได้ การที่ประเทศไทยจะเป็นแชมป์ด้านสาธารณสุขของโลกอีกเรื่องเดียวคือ ต้องคิดค้นวัคซีนให้ได้ ส่วนเรื่องอื่นประเทศไทยกวาดมาหมดแล้ว วันหนึ่งถ้าคิดค้นวัคซีนไว้ได้ จึงจะสามารถพูดได้ว่าประเทศไทยคือผู้นำด้านสาธารณสุขอย่างแท้จริง ยืนยันว่าได้กำชับห้ามใช้งบประมาณในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ต้องใช้เพื่อพัฒนานวัตกรรม องค์ความรู้ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งบางประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจถึงขั้นที่ว่าคนนี้ต้องอยู่ คนนี้ต้องตาย แต่ประเทศไทยจะไม่มีวันนั้น ไม่มีวันที่แพทย์จะต้องตัดสินใจว่าใครจะอยู่หรือใครจะตาย จะต้องเตรียมความพร้อมเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ เทคโนโลยี ความเก่งกาจของแพทย์และพยาบาล เทคนิคการแพทย์ เภสัชกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน ซึ่งเป็นนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ และได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหัวหน้ารัฐบาล

นายอนุทิน ยืนยันต่อสภาด้วยความมั่นใจว่า การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 เป็นไปเพื่อเข้าสู่การผ่อนคลายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกรอบที่คณะรัฐมนตรีให้บังคับใช้ 3 เดือน แต่มองว่าประเทศไทยเตรียมความพร้อมเดินออกจากสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้การบริการดูแลรักษา ไม่ให้โควิด-19 ทำร้ายประชาชนไทยอีกต่อไป ต้องไม่เสียทั้งหมดเพราะโควิด-19 แต่จะต้องได้ประโยชน์จากผู้ที่จะมาใช้บริการทางการแพทย์ในอนาคต สิ่งที่สูญเสียไปจะต้องเอากลับคืนมาให้ได้ 

ส่วนกรณีที่บอกว่าปล่อยให้มีกิจกรรมเสี่ยง เช่น สนามมวย การเปิดร้านอาหาร เปิดผับบาร์นั้น นายอนุทิน ชี้แจงว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการแล้วอาจจะมีการหลุดบ้างแต่ที่สำคัญ คือ เมื่อหลุดแล้วต้องสามารถสอบสวนโรคและนำทุกคนมารักษา เช่น ที่สนามมวย ทุกคนได้รับการรักษาและขยายผลไม่มีขาดตกแม้แต่คนเดียว ส่วนใหญ่กลับบ้านได้หมดแล้ว มีบางคนที่อายุมากไม่เกิน 2 - 3 ราย สูงอายุ มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ทำให้มีอาการหนักและต้องเสียชีวิตไป แต่สถิติการรักษาพยาบาลสถิติของกระทรวงสาธารณสุข การรักษาโดยบุคลากรทางการแพทย์ยังอยู่ในมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ 

สำหรับการปล่อยให้ประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้ามาประเทศมากนั้น นายอนุทิน ชี้แจงว่า รัฐบาลใช้มาตรการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยออกมาตรการทางการบินและมาตรการคัดกรองไม่ว่าจะเป็นการกักตัว 14 วัน หรือการกำหนดให้มีการทำ Exit Scan จากประเทศต้นทางก่อนเดินทางมาสู่ประเทศไทยโดยใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ ถึงจะหยุดจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ เว้นแต่จะมีภารกิจจำเป็นจริงๆ และเห็นได้อย่างชัดเจนว่าปัจจุบันนี้การแพร่เชื้อในประเทศไม่มีแล้ว ประเทศไทยตั้งการ์ดสูงอย่างเต็มที่ มีเพียงการเปิดโอกาสให้คนไทยกลับเข้ามาประเทศ ตามโควตาที่กำหนดให้ ซึ่งต้องทำกักกันและการตรวจรักษาก่อน