สแตนชาร์ดระบุ 3ปัจจัยเสี่ยง ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทย

28 พ.ค. 2563 | 10:17 น.

สแตนชาร์ดประเมินไตรมาส2จีดีพีติดลบ 13%ยังไม่ต่ำสุด ระบุ 3ปัจจัยเสี่ยง ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทย

สแตนชาร์ด ระบุ 3ปัจจัยเสี่ยงชี้ทิศจีดีพีไทย คาดไตรมาส2หดตัว 13%ยังไม่ต่ำสุดมองเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัวกลับไปที่ก่อนCOVID-19ในปี2565- ขณะที่กนง.เดินหน้าลดดอกเบี้ยอีกครั้งไตรมาส3-เงินบาทค่อยๆแข็งค่าแตะ 31บาท/ดอลลาร์ในปลายปี-ลุ้น นโยบายกระตุ้นเมืองหลัก-รองดึงนักท่องเที่ยวกลับไทยในไตรมาส4 
    ดร.ทิม  ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินช่วงที่เหลือมี 3ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ถ้าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนกลับมาปะทุอีกครั้งจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยบวกของไทยยังไม่กลับมา  2.การเมืองภายในประเทศซึ่งมีการอภิปราย(ดีเบต) เรื่องการกู้เงินของรัฐบาลเริ่มเห็นความไม่แน่นอนจะนำไปสู่การเมืองนอกสภาหรือไม่ 3.ถ้าเกิดการติดเชื้อโควิดรอบสอง(Second Wave)ในช่วงที่เหลือของปีจะเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจที่จะกลับมาเปิดดำเนินการซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งแรงงานต่างด้าว จึงต้องให้มั่นใจด้านสาธารณสุข
    

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงต้องระมัดระวัง โดยคงคาดการณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 ที่หดตัว 5% ไตรมาส 2 คาดหดตัว 13% เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2 ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง  ซึ่งขึ้นอยู่กับ 3สมมติฐาน ได้แก่ 1.กรณีดีที่สุดไทยสามารถพัฒนาวัคซีนภายในครึ่งปีหลังส่งให้เศรษฐกิจทั้งปีติดลบ 3% 2.กรณีกลางไทยสามารถพัฒนาวัคซีนได้ในเดือนก.ค.และอาจจะมีวัคซีนออกมาต้นปีหน้าจีดีพีน่าจะติดลบที่ 5% และกรณีเลวร้ายที่สุด คือ ไม่มีวัคซีนและเกิดการติดเชื้อCOVID-19 รอบสองหรือSecond Waveโอกาสที่จีดีพีจะติดลบมาก10% ซึ่งกรณีนี้ทั้งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญด้านสาธารณสุขเป็นอันดับหลักมากกว่าประเด็นของเศรษฐกิจโดยต้องร่วมกันหาทางป้องกันไม่ให้โควิดแพร่ระบาดอีกรอบ
    “เรามองเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและอาจใช้เวลา 2ปี(อาจจะปี2565)กว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปที่นก่อนโควิด แต่หากไทยกลับมาเปิดเมืองได้ก็อยากจะเห็นนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยในไตรมาส3(ตั้งแต่เดือนก.ค-ก.ย.)โดยนโยบายกระตุ้นเมืองหลักเมืองรองช่วยขับเคลื่อนและไตรมาสที่4หวังว่านักท่องเที่ยวจีน หรือเอเซียและนักท่องเที่ยวในภูมิภาคจะกลับเข้ามาเที่ยวเมืองไทยและเห็นคนไทยออกไปเที่ยวญี่ปุ่น”

ด้านนโยบายการเงินนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%ต่อปีเหลือ 0.25%ต่อปีในไตรมาส3  หลังจากคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 24มิ.ย.2563 ซึ่งแนวโน้มความจำเป็นนโยบายการคลัง ต้องรับบทหลัก  เพราะนโยบายการเงินธปท.เหลือรูมน้อยลง  อาจไม่พ้นธปท.ต้องทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือทำQEซึ่งที่ผ่านมาธปท.ได้อัดฉีดสภาพคล่องในการเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐและตราสารหนี้ทำให้ตลาดดีขึ้นรวมทั้งมาตรอื่นๆ การรีไฟแนนซ์หรือชำระคืนหนี้ที่ครบอายุ(Rollover)โดยตั้งกองทุนBSF ซึ่งเหล่านี้เป็นประเด็นต้องติดตามประสิทธิภาพที่ทำไปซึ่งเป็นการช่วยบริษัทรายใหญ่ให้เข้าถึง แต่ยังมองไม่ออกว่าการทำQEช่วยเอสเอ็มอีและรายเล็กรายย่อยอย่างไร ทั้งที่มีสัดส่วน ถึง40%ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ผลคืบหน้าจากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟโลนวงเงิน 5แสนล้านบาทนั้นมีเพียง 10%หรือกว่า 5หมื่นล้านบาทที่ได้รับอนุมัติ ที่เหลืออีก 90%ยังอยู่ในกระบวนการซึ่งต้องให้เวลาทั้งธปท.แบงก์รัฐและธนาคารพาณิชย์เพื่อให้มั่นใจว่าเงินที่อนุมัติออกไปจะไม่กลายเป็นหนี้เสีย
“ส่วนคำถามดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำกว่า 0.25%ต่อปีหรือติดลบหรือไม่นั้น  เป็นความท้าทายที่ตลาดต้องการคำตอบ ซึ่งเรามองว่า การจะเดินหน้าดอกเบี้ยนโยบายต่ำหรือติดลบหรืออาจไม่พ้นต้องทำQE  เป็นคำถามที่ต้องการให้เกิดการสื่อสารโดยผู้ว่าการธปท.คนใหม่ในเดือนต.ค.นี้ สำหรับค่าเงินบาทช่วงที่เหลือคาดว่าจะค่อยๆแข็งค่าไปอยู่ที่ 31บาทต่อดอลลาร์ในปลายปีโดยจะแข็งค่าราว 3%จากปัจจุบัน”