"ทีดีอาร์ไอ" แนะพรก.เงินกู้ ต้องใช้ให้ถูกกลุ่ม

28 พ.ค. 2563 | 07:38 น.

"ดร.สมเกียรติ" ทีดีอาร์ไอ เผยเห็นด้วยกับการกู้เงินฉุกเฉินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท แต่แนะรัฐฯต้องจัดสรรเงินให้ถึงกลุ่มเป้าหมายและมีความชัดเจนให้กับภาคธุรกิจเพื่อจะได้ปรับตัว

ในงานเสวนา “จากบทเรียนโควิด-19 สู่นโยบายฟื้นฟูฯ ที่โปร่งใสและเป็นธรรม” ที่จัดโดย ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) มีดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิชย์  ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)เข้าร่วมวงเสวนาดังกล่าวโดยเนื้อหาตอนหนึ่งได้พูดถึง พรก.เงินกู้ฉุกเฉินวงเงิน 1 ล้านล้านบาทว่าเป็นทางที่จะต้องทำและประเทศไทยโชคดีที่อยู่ในฐานะที่จะทำได้  


โดยประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถกู้เงินและใช้เงินในระดับประมาณ10% ของจีดีพีได้ในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศ  เชื่อว่าคนไทยไม่ติดใจเรื่องการกู้เงินฉุกเฉินมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ปัญหาคือจะจัดสรรอย่างไรให้เม็ดเงินถูกใช้ไปกับกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องและได้รับความเดือดร้อนจริงๆ 

"ทีดีอาร์ไอ" แนะพรก.เงินกู้ ต้องใช้ให้ถูกกลุ่ม
ที่ผ่านมาประเทศไทยทำได้แค่พอใช้แต่ยังไม่ถึงกับดีมาก ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากมาตรการแจกเงิน 5,000 บาทเป็นเวลาสามเดือนในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน","เงินเยียวยาเกษตรกร" ซึ่งพบปัญหาเยอะและรัฐบาลยังประมาณการขนาดของปัญหาไม่ถูก 


"คิดว่าสิ่งที่คนอยากจะรู้ก็คือ เราจะรอดจากภาวะก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร  ตรงนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุด หลังการระบาดของโควิด-19 ยังมีโจทย์ให้คิดอีกเยอะและต้องประมาณการณ์ไปถึงปี 2565 เพราะเรายังจะอยู่กับโควิด-19 ไปอีกหนึ่งปีครึ่งถึงสองปี"
 

 

ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรจะส่งสัญญาณออกมาชัดเลยว่าจะเอาอย่างไร  เพราะจะทำให้คนในภาคธุรกิจนั้นๆได้มีโอกาสปรับตัว ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจเกี่ยวกับสถานบันเทิง พูดชัดๆว่าจะไม่ให้เปิดภายในหนึ่งถึงสองปี เพราะคนที่ทำงานในสาขานี้จะได้ไปหางานใหม่ ถ้าหากรัฐบาลไม่พูดให้ชัดและไม่มีแนวทาง สุดท้ายคนก็จะรอเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็กลับมาเปิดได้ตรงนี้จะทำให้คนปรับตัวได้ยาก นี่คือเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือต้องส่งสัญญาณกันให้ถูก


นอกจากนั้นแล้ว ยังพูดถึงโควิด -19 ว่าประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ค่อนข้างเข้มแข็งทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อยกว่าในหลายประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่สูสีกัน แต่ระหว่างนี้และหลังจากผ่านการระบาดของโควิด-19  สิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญคือผลกระทบจากการปิดเมืองที่ทำให้เกิดโจทย์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน 


ในระยะสั้นหลายธุรกิจถูกคำสั่งปิด มีคนเดือดร้อนจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ในระยะยาว ต่อให้เปิดเมืองแล้วกำลังซื้อก็อาจจะยังไม่กลับมาโดยเฉพาะกำลังซื้อจากภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะหายไปมากจนทำให้คนในภาคธุรกิจท่องเที่ยว การโรงแรม และการบริการต่างๆขาดรายได้   
 

 

“ภาพที่ทุกคนอยากเห็นก็คือการรักษาระบบสุขภาพให้เข้มแข็งต่อไป ซึ่งหมายความว่ารัฐจะต้องลงทุนงบประมาณไปกับระบบสุขภาพมากยิ่งขึ้น  ในขณะที่ทรัพยากรด้านการเงินของรัฐมีน้อยลงเนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ รัฐได้ใช้เงินไปเป็นจำนวนมาก ประมาณการณ์ดูคาดว่าใช่ไปเกือบ10%ของจีดีพีภายในปีเดียว  ยังไม่นับการใช้เงินก้อนใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาของรัฐวิสาหกิจ เช่นการบินไทยที่เข้าสู่การฟื้นฟูฯ  ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งทบทวนก็คือการจัดสรรการใช้งบประมาณให้ดีขึ้น  ต้องลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลงและดึงเงินกลับมาจัดสรรใหม่” 


ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 กระทรวงกลาโหมถูกตัดงบมากที่สุดซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะภัยคุกคามไม่ใช่การสู้รบกันระหว่างประเทศ ตอนนี้กำลังสู้กับเชื้อโรค  สู้กับปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นต้องจัดสรรงบประมาณมาลงด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม และคงต้องช่วยกลุ่มคนยากจน กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ยากที่สุดก่อน เพราะก่อนที่จะเกิดวิกฤตก็อยู่ในภาวะปริ่มน้ำอยู่แล้ว  พอเกิดวิกฤตเข้ามากระทบก็เรียกได้ว่าล้มทั้งยืน คนเหล่านี้ควรจะเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลในการช่วยเหลือ