“สสว.” ชี้ดัชนีเชื่อมั่น SMEs เม.ย.ดิ่งลงต่อเนื่อง

28 พ.ค. 2563 | 07:55 น.

“สสว.” ชี้ดัชนีเชื่อมั่น "SMEs" เดือนเมษายนดิ่งลงต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นดีขึ้นจากการผ่อนปรนเปิดกิจการ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” (COVId-19) ยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) เห็นได้จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “สสว.” เดือนเมษายนซึ่งยังคงปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับ 27.6 จากเดือนมีนาคมมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 31.0 แต่ก็มีสัญญาณที่ดีเมื่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับขึ้นมากมาอยู่ที่ระดับ 53.0

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยกา สสว. เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯที่ลดลงในเดือนเมษายนเป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอด  ทั้งเดือน ทำให้ปริมาณซื้อ-ขายสินค้า และการให้บริการธุรกิจต่างๆ ยังคงซบเซาทั่วทุกภูมิภาค
                ส่วนดัชนีเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับขึ้น  เพราะความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ที่ดีขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากรัฐบาลควบคุมโรคระบาดได้ดี และมีความชัดเจนของมาตรการผ่อนปรนข้อจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs คาดการณ์กำลังซื้อจะเพิ่มขึ้นในอนาคตเมื่อเทียบกับเดือนปัจจุบัน โดยถือเป็นสัญญาณบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

“สสว.” ชี้ดัชนีเชื่อมั่น SMEs เม.ย.ดิ่งลงต่อเนื่อง

สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายนที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต การค้าและบริการ และกำไรที่ปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ระดับ 11.0, 11.8 และ 12.1 ส่วนองค์ประกอบด้านการลงทุน ต้นทุนรวม และการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 34.5, 58.5 และ 37.9  โดยเป็นการลดลงในทุกภูมิภาค และเกือบทุกสาขาธุรกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณซื้อ-ขายทั้งสินค้า และการให้บริการธุรกิจต่างๆ ชะลอตัวลง

ภาคการผลิต ภาคการค้าและบริการ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน ลดลงอยู่ที่ระดับ 26.3 และ 28.0  โดย 3  สาขาที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปัจจุบันต่ำที่สุด  คือ  การผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ บริการที่พักโรงแรม และบริการกีฬา สันทนาการ เช่น ศูนย์บริการออกกำลังกาย เนื่องจากการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นของผู้บริโภค และการปิดกิจการชั่วคราวตลอดทั้งเดือนของหลายกิจการ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปัจจุบันของผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคต่างๆ ลดลงทุกภูมิภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 27.8 ลดลงจาก 30.9 ในเดือนมีนาคม สาเหตุมาจากการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมาตรการเคอร์ฟิว ทำให้ภาวะธุรกิจทั่วไปชะลอตัว และการกักตุนเครื่องอุปโภคและบริโภคลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ เดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 29.6 ลดลงเล็กน้อยจาก 30.2 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากการควบคุมการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจต่อเนื่อง ซบเซาต่อเนื่อง แต่มีการขยายตัวของกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และเกษตรเพื่อตกแต่งบ้าน

“สสว.” ชี้ดัชนีเชื่อมั่น SMEs เม.ย.ดิ่งลงต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง เดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 26.6 ลดลงจาก 34.8 ในเดือนมีนาคม โดยสาเหตุนอกจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แล้ว ปัญหาภัยแล้งยังกระทบต่อปริมาณการผลิตการเกษตรและรายได้ ทำให้กำลังซื้อ และผลประกอบการธุรกิจ SMEs ชะลอตัวลง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก เดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 27.6 ลดลงจาก 30.9 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากการปิดสถานประกอบการ ทำให้มีการลดจำนวนแรงงาน และการส่งออกผลไม้ฤดูร้อนลดลง เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ เป็นต้น ส่งผลให้รายได้ กำลังซื้อชะลอตัวลง

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ เดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 27.8 ลดลงจาก 34.1 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากความซบเซาของธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจต่อเนื่อง และการควบคุมการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดน ไทย-มาเลเซีย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ และกำลังซื้อ ชะลอตัวลง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 26.4 ลดลงจาก 28.4 ในเดือนมีนาคม โดยชะลอตัวลงในเกือบทุกสาขาธุรกิจโดยเฉพาะการบริการน้ำมัน บริการเสริมความงาม และการค้าปลีกแบบดั้งเดิม

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 53.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่ระดับ 35.5 ซึ่งเป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ต่อสถานการณ์ในอนาคต เพราะมีแนวโน้มการควบคุมโรคระบาดได้ดีขึ้น และเริ่มเห็นความชัดเจนของมาตรการผ่อนปรนข้อจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือนเมษายน

อีกทั้งผู้ประกอบการเริ่มมีการจัดโปรโมชั่นการขายล่วงหน้าในกิจการบางสาขา เช่น บริการที่พักโรงแรม บริการท่องเที่ยว และบริการด้านสุขภาพความงาม ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถคาดการณ์กำลังซื้อ การผลิตสินค้า การให้บริการ และผลประกอบการ จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนปัจจุบัน

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของ SMEs ในเดือนเมษายน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และอำนาจซื้อของประชาชน 2. การปรับเปลี่ยนมาตรการด้านต่างๆ ของรัฐบาล 3. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค 4. ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงาน และ 5. การแข่งขันในตลาด