สศช.ชี้พิษโควิดเสี่ยงเลิกจ้าง 8.4ล้านคน ตลอดทั้งปีนี้คาดว่างงาน 2 ล้านคน

28 พ.ค. 2563 | 06:00 น.

สภาพัฒน์ ประเมินพิษโควิดเสี่ยงเลิกจ้าง 8.4ล้านคน ภาคท่องเที่ยว หนักสุด หวังงบประมาณ 4แสนล้าน รองรับสร้างงาน แรงงานกลับภูมิลำเนา-บัณฑิตจบใหม่ ส่งผลให้อัตราว่างงานตลอดปีนี้คาดไม่เกิน 2 ล้านคน

สภาพัฒน์ประเมินพิษโควิดเสี่ยงเลิกจ้าง 8.4ล้านคน หวังงบประมาณ 4แสนล้านบาทรองรับคนกลับภูมิลำเนา-บัณฑิตจบใหม่ช่วยสถานการณ์ดีขึ้นอัตราว่างงาน 2ล้านคน  หลังไตรมาส1 ธุรกิจหยุดกิจการชั่วคราว 750แห่ง-ด้านหนี้ครัวเรือนแนวโน้มเพิ่มแต่ภาพรวมไม่ไม่น่ากลัว เหตุคนไทยก่อหนี้ทำธุรกิจ18%


นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ฯ เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 โดยระบุว่า การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง   ผู้มีงานทำ 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน0.7% จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 3.7% ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่  0.5% จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการศึกษา   ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังไม่แสดงผลกระทบในจำนวนการจ้างงานภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงจำกัดอยู่ในบางพื้นที่
 

นอกจากนั้น สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน ผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน  1.03% เพิ่มขึ้นจาก 0.92% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีจำนวน 170,144 คน เพิ่มขึ้น  3% และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานแฝง1.2% เพิ่มขึ้น17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.2% ผลิตภาพแรงงานลดลง  1.0% เป็นการลดลงจากทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม

ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 และปัญหาภัยแล้งต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะปรากฏผลชัดเจนเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่สอง และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วง  3-4% หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน  เนื่องจาก 3ปัจจัยคือ 1.เริ่มควบคุมสถานการณ์โควิดได้และในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น 2.  รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และ 3. ภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง

" ทั้งปีมีโอกาสที่คนจะตกงาน ประมาณ 8.4 ล้านคน จึงเตรียมนโยบายรองรับไว้ ซึ่งเงินงบประมาณ 4แสนล้านบาทที่จะลงไปในพื้นที่เพื่อรองรับคนกลับภูมิลำเนา ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้กับประชาชนฐานราก เช่น การเก็บข้อมูลหรือหรือด้านดิจิทัล นั้น อย่างน้อยจะมีงาน2-3แสนจ๊อบ แน่นอนงบประมาณที่มีจำกัดอาจไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด แต่หากสถานการณ์ดีขึ้น คาดว่าทั้งปีจะมีคนว่างงาน 2 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงวิกฤติปี2540จากปกติมีต่อปี แต่พอมีวิกฤติโควิดเป็นความเสี่ยงที่จะว่างงานเพิ่ม3-4%”

นายทศพลกล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่า  ไตรมาสนี้ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน แต่คุณภาพสินเชื่อแย่ลง  โดยในไตรมาสสี่ปี 2562 สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย มีมูลค่า 13.47 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.0% ชะลอลงจาก 5.5% ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการปรับตัวลดลงในสินเชื่อทุกประเภท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 79.8% สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าการชะลอตัวของหนี้สินครัวเรือน 

“แนวโน้มหนี้ครัวเรือนแม้อาจจะปรับเพิ่มในภาวะวิกฤติ  แต่หากดูจากการก่อหนี้ที่ใช้จ่ายสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตเป็นการก่อหนี้เพื่อประกอบธุรกิจซึ่งมีสัดส่วน 17.9% หากตัดส่วนหนี้อกไป ภาพรวมจึงไม่น่ากลัว”  

ส่วนด้านภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีมูลค่า 156,227 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.23% ต่อสินเชื่อรวมซึ่งไม่อยู่ในระดับมากนัก แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.90 %ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อทุกประเภทด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ