‘บีโอไอ’จัดหนัก แข่งเดือดอาเซียน ดึงลงทุนสู้โควิด

29 พ.ค. 2563 | 06:30 น.

สัมภาษณ์ :

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานช่วง 3 เดือนแรกปี 2563 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศมีทั้งสิ้น 378 โครงการ เพิ่มขึ้น 3% และมีมูลค่าเงินลงทุน 71,380 ล้านบาท ลดลง 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

อย่างไรก็ดี การขอรับการส่งเสริมการลงทุนข้างต้นส่วนใหญ่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 117 โครงการ เงินลงทุน 47,580 ล้านบาท ล่าสุดสถานการณ์โควิดในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย แต่ทิศทางแนวโน้มการลงทุนในไทยในเดือนที่เหลือของปีนี้ก็ยังต้องลุ้น

 

-อาเซียนเดือดแข่งดึงลงทุน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เมื่อสถาน การณ์ของโควิด-19 เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หากการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ภาพการเคลื่อนย้ายการลงทุนรอบใหม่จะปรากฏชัดเจนขึ้น โดยจะมีการย้ายฐานการผลิตระลอกใหญ่จากบริษัทจีนและบริษัทต่างชาติที่จะย้ายออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยง อันเนื่องจากปัญหา Supply Chain Disruption ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา รวมทั้งผลต่อเนื่องจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต ส่วนหนึ่งอาจย้ายฐานกลับประเทศแม่ แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง คงทำได้ไม่มากนัก สุดท้ายแล้วภูมิภาคอาเซียนจะเป็นเป้าหมายใหญ่ของนักลงทุน ซึ่งเป็นโอกาสของไทยที่ต้องช่วงชิงคลื่นการลงทุนครั้งนี้ให้ได้

“แน่นอนว่าในภาวะแบบนี้ ทุกประเทศย่อมแข่งกันดึงการลงทุน โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งในอาเซียน อย่างเวียดนาม มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย แต่ด้วยจุดแข็งของไทย ทั้งในแง่ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาคที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ได้อย่างดี มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ มีพื้นที่อีอีซีเป็นจุดขายใหม่และมีความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต บุคลากรมีคุณภาพ ซัพพลายเชนครบวงจรที่สุดในภูมิภาค ตลอดจนมาตรการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐที่มีให้ในระดับสูง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน”

นอกจากนี้ไทยได้รับคำชมจากนานาชาติว่าสามารถควบคุมการติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำ แสดงถึงขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลบวกต่อภาพลักษณ์ประเทศ จึงเป็นโอกาสดีที่จะตอกย้ำจุดแข็งของไทยในการเป็นแหล่งที่น่าลงทุนของภูมิภาค ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนระยะยาว เพราะมีความเสี่ยงต่ำ มีความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกิจ และมีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานที่จะรองรับการลงทุน ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นที่หมายตาของนักลงทุน และสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายแข่งกับประเทศต่างๆ ได้


‘บีโอไอ’จัดหนัก  แข่งเดือดอาเซียน  ดึงลงทุนสู้โควิด

-อัดสิทธิประโยชน์ดันอีอีซี

ในส่วนมาตรการของบีโอไอ ในช่วงที่ผ่านมาได้เตรียมหลายมาตรการเพื่อดึงดูดคลื่นการลงทุนใหม่จากการย้ายฐานการผลิต เป็นต้นว่า มาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเป็นพิเศษเพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนจริงภายในปี 2563-2564 มาตรการนี้จะเน้นโครงการที่มี impact สูงต่อเศรษฐกิจของประเทศ คือ กิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี และสามารถลงทุนได้ทุกพื้นที่ โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี หากมีการลงทุนจริง เช่น มีค่าก่อสร้างโรงงาน และค่าเครื่องจักร รวมไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ภายในปี 2563 หรือไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 อย่างใดอย่างหนึ่ง และจะต้องไม่มีการขอขยายเวลานำเข้าเครื่องจักรเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติไว้ โดยต้องนำหลักฐานการลงทุนมายื่นขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมภายในเดือนมิถุนายน 2565

 

มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีให้ดึงดูดมากขึ้น เช่น กรณีตั้งโครงการในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ เช่น เขต EECi, เขตดิจิทัล EECd หรือเมืองการบินอู่ตะเภา จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ และกรณีตั้งโครงการในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมทั่วไปในพื้นที่อีอีซี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี เป็นต้น

ทั้งนี้บีโอไอได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาตลอด และจะทำให้เข้มข้นขึ้นโดยไม่รอให้โควิดจบ ถ้าจำเป็นก็อาจจะมีมาตรการสนับสนุนใหม่ๆ ของภาครัฐออกมาเพิ่มเติมเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งกำลังเตรียมออกแคมเปญใหม่เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของประเทศไทยผ่านสื่อชั้นนำในต่างประเทศ ซึ่งแคมเปญพีอาร์ใหม่นี้กำลังออกแบบร่วมกับที่ปรึกษา เน้นกลุ่มประเทศเป้าหมาย เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะได้เห็นในเร็ว ๆ นี้

“จากสถานการณ์ในปีนี้มีความไม่แน่นอนสูง จึงยากที่จะตั้งเป้าหมายการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นตัวเลขที่ชัดเจนในปีนี้ได้ แต่บีโอไอจะพยายามเต็มที่ เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากคลื่นการลงทุนระลอกใหม่ ขณะเดียวกันจะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมไปแล้วเร่งลงทุน เพื่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนจริงในระบบเศรษฐกิจมากที่สุดด้วย”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563