เร่งส่งออกไข่ไก่ภายใน6เดือน แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด

27 พ.ค. 2563 | 08:17 น.

พาณิชย์เร่งผลักดันส่งออกไข่ไก่ตั้งเป้า200 ล้านภายใน6เดือน แก้ปัญหาล้นตลาด3ล้านฟอง/วัน หวังราคาปรับขึ้นเป็นฟองละ 2.80-3.00 บาท จากปัจจุบันไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.40 บาท

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและราคาไข่ไก่ในประเทศขณะนี้ว่า มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 40-41 ล้านฟองต่อวัน ขณะที่การบริโภคอยู่ที่ 38-39 ล้านฟอง ทำให้มีปริมาณการผลิตส่วนเกินวันละ 3 ล้านฟอง จึงเห็นควรให้ใช้มาตรการระบายผลผลิต โดยการผลักดันการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ 200 ล้านฟอง ภายใน 6 เดือน โดยภาครัฐจะเข้ามาอุดหนุนในการลดต้นทุนให้กับเกษตรกร เช่น บรรจุภัณฑ์ ซึ่งใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเกษตรกรจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยจะเริ่มเริ่มต้นดำเนินการที่ 100 ล้านฟองแรก ภายใน 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมิ.ย. เป็นต้นไปถึงเดือนก.ย.  และอีก 100 ล้านฟองที่เหลือในช่วง 2 เดือนหลังจากนั้นระหว่างเดือนต.ค. ถึงเดือนพ.ย.

เร่งส่งออกไข่ไก่ภายใน6เดือน  แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด

“เชื่อว่าตลาดหลักๆที่เคยนำเข้าไข่ไก่จากไทยจะกลับมาซื้อไข่ของไทย หลังจากที่ไทยระงับการส่งออกไปในช่วงที่ผ่านมา เพราะถือเป็นมาตรการที่ทุกประเทศต้องดำเนินการในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่ทุกประเทศจะให้ความสำคัญกับผู้บริโภคในประเทศก่อน ทำให้สินค้าที่จำเป็นบางอย่างต้องระงับการส่งออกเพื่อให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่ปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วง

เร่งส่งออกไข่ไก่ภายใน6เดือน  แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด

นอกจากนี้ ยังเร่งระบายในประเทศอีก 15 ล้านฟอง ผ่านโครงการรณรงค์ให้มีการบริโภคภายในประเทศ เช่น ผ่านร้านธงฟ้าและโครงการธงฟ้าในช่วง 2 เดือนหลังจากนี้ โดยเชื่อว่าจะสามารถผลักดันราคาไข่ไก่คละของเกษตรกรให้ปรับราคาดีขึ้นอยู่ที่ราคาฟองละ 2.80-3.00 บาท จากปัจจุบันไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.40 บาท  และระยะยาวอาจมีการพิจารณาลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรงลงประมาณ 3 ล้านตัว เพื่อลดปริมาณการผลิตต่อวันลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอาจให้อยู่ต่ำกว่า 41 ล้านฟองต่อวันอีกด้วย

ในส่วนของสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ผลไม้ ข้าว ในภาพรวมมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องผลผลิตและราคาตกต่ำ เพราะกรมเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการหลายรูปแบบ และผลผลิตที่ออกมาสามารถบริหารจัดการได้ เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง และผลไม้อื่น ๆที่จะทยอยออกมา รวมทั้งข้าวที่ราคาค่อนข้างดี คาดว่าจะเป็นอีกปีทองของสินค้าเกษตรไทย