ดอกเบี้ยฝากลดแซงกนง.ออมทรัพย์เหลือ 0.25%

27 พ.ค. 2563 | 23:30 น.

แบงก์ใหญ่ หั่นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แตะ 0.25% แซงหน้าดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอยู่ที่ 0.50%  แม้ลดดอกเบี้ยเงินฝากลง 2-3 ครั้ง แต่ลดดอกเบี้ยสินเชื่อลง 5 ครั้งก็ตาม กูรูชี้ไตรมาส 2 น่าจะดึงส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมาอยู่ที่ 2.4% “ซีไอเอ็มบีไทย” เตรียมชะลอแคมเปญเงินฝากจ่ายผลตอบแทนสูงพร้อมเสนอลดดอกกู้สัปดาห์นี้ 

การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ปีนี้ นับเป็นครั้งแรกของการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.25% นำหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบาย(กนง.) ได้ปรับลดลงต่อเนื่อง 2 ครั้ง มาอยู่ที่ระดับ 0.50% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนเหลือ 0.375% ส่วนเงินฝากประจำ 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือนเหลืออัตรา 0.50% และ 36 เดือนเหลือ 0.75% ต่อปี พร้อมกับยกเลิกขนาดของวงเงินฝาก

 

ทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลงชัดเจนขึ้น ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ตามหลัง กนง.โดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้มาแล้ว 5 ครั้งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ดอกเบี้ยเงินฝากลดลง 2-3 ครั้ง โดยเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั้งแผงทั้งบุคคลธรรมดา, นิติบุคคลทั่วไป, หน่วย งานราชการ,บริษัทประกันภัย- ประกันชีวิต, นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร, สถาบันการเงิน, กองทุนและสหกรณ์ออมทรัพย์

ดอกเบี้ยฝากลดแซงกนง.ออมทรัพย์เหลือ 0.25%

“ฐานเศรษฐกิจ”พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้และฝากต่อเนื่อง นำทีมโดย ธนาคารกรุงไทย ได้ลดดอกเบี้ยเงินฝากลงก่อนหน้ากนง.จะประชุมเมื่อวันที่ 20 มกราคม และลดอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม ไล่หลังจาก กนง.มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ 0.5% โดยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา ลดจาก 0.50% เป็น 0.25% ต่อปี พร้อมกับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนจาก 0.90% และ  0.650% เป็น 0.375% ต่อปี ส่วน เงินฝากประจำ 6 เดือน 12 เดือนและ 24 เดือน ลดเป็นอัตราเดียวกันที่ 0.50% จากเดิมจ่ายดอกเบี้ยตามขนาดของ เงินฝาก เช่น น้อยกว่า 500,000 บาท ถึงมากกว่า 500,000 บาท จะจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 0.90% ถึง 1.60% ต่อปี 

 

ถัดมา ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา เงินฝากน้อยกว่า 50 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.50% วงเงินฝาก 50-100 ล้านบาทหรือ 100-300 ล้านบาท และ 300 ล้านบาทขึ้นไป ดอกเบี้ย 0.625% เหลือ 0.25% ต่อปี โดยยกเลิก
ขนาดของวงเงินดังกล่าวไป ส่วนเงินฝากประจํา 3 เดือนเหลือ 0.375% ต่อปี 6 เดือน 12 เดือน และ 24 เดือน เหลืออัตราเท่ากันที่ 0.50% และ 36 เดือนเหลือ 0.75% ต่อปี 

 

ตามมาด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดดอกเบี้ยเมื่อ 25 พฤษภาคมครั้งเดียว โดยลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เหลือ 0.25% ต่อปี จาก 0.50% (ณ วันที่ 27 ธ.ค.62) โดยเงินฝากประจำ 3 เดือน (น้อยกว่า 100 ล้านบาท มากกว่า 100 ล้านบาท 500 ล้านบาทและ 1,000 ล้านบาท) จ่ายดอกเบี้ยเหลือ 0.375% จากเดิมวงเงินน้อยกว่า 5 ล้านหรือ 5 ล้านบาทขึ้นไป ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.00% และ 0.75% ตามลำดับ ส่วนเงินฝากประจำ 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน จ่ายดอกเบี้ยเหลือ 0.50% จากเดิมอยู่ที่อัตรา 1.25-1.50% และ 36 เดือนเหลือ 0.75% ต่อปี

 

สุดท้าย ธนาคารกสิกรไทย ลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาเหลือ 0.25% จากต้นปีอยู่ที่ 0.50% ต่อปี นอกจากนี้ยังได้ปรับดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือนอยู่ที่ 0.375% ต่อปี ส่วน 6 เดือนเหลือ 0.450% จากเดิมอยู่ที่ 1.15-0.90% 12 เดือนเหลือ 0.450% จากเดิมอยู่ที่ 1.30-1.05% 24 เดือนเหลือ 0.50% และ 36 เดือนเหลือ 0.70% ต่อปี 

แหล่งข่าวให้ความเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ โดยเฉพาะดอกเบี้ยออมทรัพย์บุคคลธรรมดา ที่ไม่ขยับมานานแล้ว น่าจะช่วยประคองส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ของธนาคารในระบบกลับมาในไตรมาส 2 ได้ 2.4% จากเดิม NIM อยู่ที่กว่า 3% ซึ่งหากไม่ปรับลดดอกเบี้ยออมทรัพย์ลงธนาคารจะได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้มากกว่านี้ เนื่องจากไตรมาส 1 แม้รายได้จะเพิ่มขึ้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดเงินนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งลำพังธนาคารเดินหน้าพักหนี้ โดยเฉพาะดอกเบี้ยทำให้รายได้ดอกเบี้ยหายไป อีกทั้งผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยทำให้รายได้แบงก์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลง โดยปัจจุบันสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาต่อเงินฝากรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 33.4% (โดยเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากกระแสรายวันหรือ CASA มีสัดส่วนรวม 60%) ที่เหลือเป็นเงินฝากออมทรัพย์อื่นๆ เงินฝากกระแสรายวัน และเงินฝากประจำ

 

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารกำลังจะประชุมกรรมการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียว เป็นหลัก ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต้องอั้นกันไปก่อน แต่อาจเลือกวิธี ชะลอแคมเปญที่จ่ายดอกเบี้ยสูงออกไปก่อน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,578 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563