ปตท.สผ. ทุ่ม1.8 หมื่นล้าน ประมูลแท่นปิโตรเลียม

30 พ.ค. 2563 | 05:40 น.

ปตท.สผ.เดินหน้าลงทุนแหล่งเอราวัณ-บงกช ช่วงรอยต่อ อัด 1.8 หมื่นล้าน ประมูลก่อสร้าง 28 แท่นปิโตรเลียม วงการหวั่นต่างชาติคว้างาน จี้กระทรวงพลังงานสนับสนุนบริษัทคนไทย ก่อนกระทบปลดพนักงาน

นโยบายเร่งรัดการลงทุน ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หนึ่งในโครงการสำคัญเป็นเรื่องของการดำเนินงาน ลงทุนช่วงรอยต่อของแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และแหล่งบงกช ให้สามารถดำเนินงานได้ตามแผน หลังปี 2565-2566 เป็นต้นไป ที่จะต้องผลิตก๊าซธรรมชาติรวมอย่างตํ่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เบื้องต้นทางบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ได้ส่งแผนการดำเนินงานให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อนุมัติแผนการลงทุนแล้วในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา และได้จัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างแท่นหลุมผลิตจำนวน 12 แท่น ที่จะนำไปติดตั้งในแหล่งเอราวัณ 8 แท่น และบงกช 4 แท่น และในแหล่งอาทิตย์อีก 3 แท่น ในช่วงปี 2564 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทไทยนิปปอนสตีล จำกัด ได้คว้างานนี้ไปและเริ่มก่อสร้างแล้ว ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 อัตรา

ล่าสุดช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ปตท.สผ.ยัง ได้ออกหนังสือเชิญชวนเอกชนที่มีศักยภาพในการก่อสร้างแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม(ทีโออาร์) เป็นการเฉพาะ เพื่อเข้าร่วมประมูลงานโครงการ Bundled 3 ในรูปแบบอินเตอร์บิดดิ้ง ที่เปิดให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างแท่นอย่างตํ่า 28 แท่น รวมถึงการติดตั้ง และเชื่อมต่อระบบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นซองประมูลได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 นี้ เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเพียงรายเดียวในเดือนกันยายน 2563

แหล่งข่าวจากวงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยว่า การประมูลก่อสร้างแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม โครงการ Bundled 3 ของปตท.สผ.ครั้งนี้ ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่สุดของภูมิภาคอาเซียนในช่วงนี้ ที่คาดว่าจะมีเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูลราว 7-8 ราย เป็นอย่างตํ่า เช่น ของไทยจะมี บริษัท ซียูอีแอล จำกัด บริษัท ไทยนิปปอนสตีล จำกัด และบริษัท บีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ขณะที่ต่างชาติจะมีมาจากอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ทั้งนี้ ในทีโออาร์ ดังกล่าว มีการระบุสัญญาออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ งานก่อสร้างแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมเป็นอย่างตํ่าไว้จำนวน 28 แท่นในระยะเวา 5 ปี (2564-2568) งานติดตั้งแท่น และงานเชื่อมต่อเข้าระบบ ซึ่งในส่วนของสัญญาแรก คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท หลังจากยื่นซองเอกสารประมูลในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว คาดว่าจะได้ผู้ชนะในเดือนกันยายน 2563 และจะเริ่มทยอยการก่อสร้างในปี 2564 จำนวน 4 แท่น เพื่อนำไปติดตั้งในปี 2565 และอีก 4 ปี จะทยอยก่อสร้างปีละ 6 แท่น ทยอยติดตั้งในปีต่อๆ ไป

สำหรับการประมูลงานครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นการแข่งขันที่สูงมาก เพราะเป็นโคงการขนาดใหญ่ และงานก่อสร้างแท่นของภูมิภาคมีน้อย มีโอกาสที่จะดัมพ์ราคาเพื่อแย่งงานกัน

อย่างไรก็ตาม มีการมองว่า การเปิดประมูลครั้งนี้ เป็นการสวนทางกับแนวทางของกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้บริหารจัดการแหล่งเอราวัณและบงกชในรูปแบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสชี หรือไม่ เพราะหากผู้เข้าร่วมประมูลที่เป็นต่างชาติชนะการประมูลไป จะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนออกไปสู่นอกประเทศ ไม่เกิดการจ้างงานภายในประเทศ

อีกทั้ง จะส่งผลให้บริษัทในประเทศที่มีศักยภาพในการก่อสร้างแท่น ประสบปัญหาต้องปิดกิจการหรือต้องปลดพนักงานเนื่องจากไม่มี งานก่อสร้างเข้ามาซึ่งจากการประเมินการก่อสร้าง 5 แท่นหลุมผลิต จะต้องใช้แรงานไม่ตํ่ากว่า 1,500 คน และมีผลต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ อีกไม่ตํ่ากว่า 1 หมื่นคน

ที่สำคัญจะทำให้ประเทศขาดช่วงการพัฒนาบุคลากร การก่อสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม เพื่อรองรับการพัฒนาปิโตรเลียมในแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หรือ OCA ที่จะตามมาในอนาคต

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คงต้องกลับมาดูว่าการประมูลงานใน ครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการลงทุนภายในประเทศหรือไม่เพราะหากไม่สนับสนุนบริษัทคนไทยได้รับงาน ก็จะมีผลกระทบออกมาเป็นระลอก”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563