โอเปอเรเตอร์ นำทัพ 5G พัฒนา “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช”

26 พ.ค. 2563 | 10:14 น.

แพทย์ศิริราช ร่วมกับ วิศวะมหิดล ผนึกกำลัง 3 โอเปอเรเตอร์ ทรู เอไอเอส และทีโอทีนำทัพ 5G หนุนพัฒนา “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช”

    ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การผนึกกำลังของมหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งพัฒนาเพื่อสังคมส่วนรวมให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึง  การรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตกอย่างรวดเร็ว ด้วย หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) เปรียบเสมือนการนำโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน เพื่อลดระยะเวลาในการเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตันทำให้อัตราการเสียชีวิตและพิการลดลงได้ โดยจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการ  โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีอาการตาตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง แบบเบ็ดเสร็จในรถ ขณะนี้รถรุ่นใหม่ของ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 จำนวน 3 คัน อยู่ระหว่างการผลิต กำหนดแล้วเสร็จของรถคันที่ 2 ประมาณเดือนสิงหาคม 2563 และคันที่ 3 และ 4 จะแล้วเสร็จภายในปี 2563

โอเปอเรเตอร์ นำทัพ 5G  พัฒนา “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช”     รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า   หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาความก้าวหน้าทางสมรรถนะและเทคโนโลยี ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากสองปีที่เปิดบริการแก่ประชาชนสามารถรองรับการรักษาช่วยผู้ป่วย 287 ราย ตอบโจทย์การแพทย์-ดิจิทัลเฮลท์แคร์และเฮลท์เทค  สำหรับ ปี 2563 นี้ จะเป็นรถรุ่นใหม่ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 จำนวน 3 คัน โดยได้ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างรถ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช  ระบบวิศวกรรมต่าง ๆ และระบบการสื่อสารภายในรถที่ก้าวหน้าทันสมัยด้วยเทคโนโลยี  มีระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารภายในรถกับโครงข่ายสื่อสาร 5G ด้วยซิม

โอเปอเรเตอร์ นำทัพ 5G  พัฒนา “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช”     ทั้งนี้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร 5G ที่มีเสถียรภาพและความเร็วสูง ผสานกับการออกแบบตัวรถและระบบ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ จะช่วยเรื่องการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การส่งภาพ CT Scan สมองและสัญญาณชีพของผู้ป่วยที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเสมือนกับผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมองจากระยะไกล ด้วยข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์และมีความละเอียดสูงจะส่งผลให้การตัดสินใจวางแผน และทำการรักษาของบุคคลากรการแพทย์สามารถกระทำได้ทันทีและแม่นยำก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ดังนั้น การมีเทคโนโลยี 5G จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงของประชาชนคนไทย

โอเปอเรเตอร์ นำทัพ 5G  พัฒนา “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช” ด้านนายรังสรรค์  จันทร์นฤกุล  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาประเทศด้านสาธารณสุขเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประชาชน มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกพื้นที่มีโอกาสได้รับบริการ หรือได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม  ทีโอที ให้ความสำคัญกับการให้บริการโทรคมนาคม และบริการดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากศักยภาพของโครงข่าย 5G ที่มีจุดเด่นเรื่องความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสื่อสารผ่านระบบแพทย์ทางไกลความเร็วสูง ทำให้การสื่อสารมีความสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ ช่วยให้การประสานงานส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยรถพยาบาลการแพทย์ฉุกเฉินมาสู่รถ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช ด้วยความปลอดภัย ซึ่งการบริการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขของไทย และในอนาคต ทีโอที มีแผนงานที่จะใช้คลื่น 5G นำไปพัฒนาเพิ่มศักยภาพในด้านอื่น ๆ เพื่อจะมีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมต่อไป

   โอเปอเรเตอร์ นำทัพ 5G  พัฒนา “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช”
       นายพิรุณ   ไพรีพ่ายฤทธิ์  หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ทรูได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำศักยภาพเทคโนโลยี True 5G เครือข่ายอัจฉริยะของกลุ่มทรู  มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช โดยเชื่อมต่อด้วยซิม True 5G-Ready และอุปกรณ์รับสัญญาณ CPE 5G ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True 5G ที่ได้ติดตั้งไว้แล้วภายในโรงพยาบาล และตลอดเส้นทางที่รถพยาบาลวิ่งผ่าน เพื่อนำส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และทันท่วงที ซึ่งคาดหวังว่า หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้เป็นอย่างดี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เอไอเอส ชู 5G หนุน “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช”

    โอเปอเรเตอร์ นำทัพ 5G  พัฒนา “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช”

   ขณะที่ นายวสิษฐ์  วัฒนศัพท์  หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ (Mobility) เป็นการรักษาพยาบาลรูปแบบหนึ่ง ที่สร้างโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที 5G จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยรอบด้านเช่น หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช ด้วยนำศักยภาพเครือข่าย 5G, 5G CPE อุปกรณ์รับและกระจายสัญญาณ 5G , ซิมการ์ด 5G เข้ามาเสริมประสิทธิภาพ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) เพิ่มขีดความสามารถการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยระบบปรึกษาทางไกลพร้อมกล้องส่งสัญญาณภาพ เพื่อให้แพทย์สนทนากับผู้ป่วยขณะอยู่บนรถ เพื่อวินิจฉัยการรักษาเบื้องต้น และเตรียมพร้อมวางแผนการรักษาก่อนมาถึงโรงพยาบาลให้เข้าถึงคนไทยได้อย่างไร้ข้อจำกัด สอดคล้องกับแนวคิด 5G ที่จับต้องได้ เพื่อทุกชีวิต