“การบินไทย" เปลี่ยนมือ "คมนาคม” ส่งไม้ต่อ "คลัง" หลังพ้นรัฐวิสาหกิจ

26 พ.ค. 2563 | 08:49 น.

“คมนาคม” ยันไม่มีสิทธิคุม“การบินไทย” หลังพ้นสภาวะรัฐวิสาหกิจ เหตุคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีอำนาจตัดสินใจ ย้ำภารกิจดูแลการบินไทยสิ้นสุดแล้ว เร่งเตรียมมาตรการรองรับเปิดประเทศหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

นายศักดิ์สยาม   ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดย นายวิษณุ  เครืองาน รองนายกรัฐมนตรีได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับการแก้ไขปัญหาฟื้นฟูบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ขณะนี้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นสภาวะการเป็นรัฐวิสาหกิจ (รสก.)แล้ว  เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการลดสัดส่วนหุ้นต่ำกว่า 50%  ส่งผลให้ไม่มีหน่วยงานใดๆของรัฐเข้าไปกำกับดูแลได้ตามกฎหมาย  ขณะเดียวกันเป็นเรื่องของบริษัทการบินไทยที่ต้องเดินหน้าในรูปแบบบริษัทมหาชน ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะมีอำนาจในการตัดสินใจและอนุมัติในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการบินไทย เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

 

สำหรับมติครม.ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ บินไทย ถือว่าดำเนินการแล้วเสร็จ เนื่องจากในช่วงที่การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ทางกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้จัดเตรียมทำแผนฟื้นฟูฯ ส่วนขั้นตอนดำเนินการยื่นแผนฟื้นฟูฯ จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการบินไทยเป็นผู้ดำเนินการ   ทั้งนี้นายวิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรีได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีอนุมัติ แต่งตั้งคณะทำงาน  เพื่อติดตามและประสานงานเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ บินไทย ถึงแม้การบินไทยจะพ้นสภาวะการเป็นรัฐวิสาหกิจ  แต่เจตนารมณ์ของรัฐต้องการฟื้นฟูการบินไทย

 

อ่านข่าว สหภาพฯ "การบินไทย” โวย คลัง หลัง "การบินไทย" พ้น รสก.

อ่านข่าว 23 จุดเสี่ยงดึง "การบินไทย" สู่ศาลล้มละลาย

“เราได้เห็นตัวชี้วัดแล้วว่าหลังจากการบินไทยพ้นรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ได้ทันที โดยไม่ต้องเสนอเข้าครม.  หรือเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณา ขณะเดียวกันการบินไทยถือเป็นบริษัทมหาชนแล้ว  ทำให้มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ  หลังจากนั้นเขาต้องไปดูว่าใครจะมาทำหน้าที่จัดทำแผนฟื้นฟูฯ และเป็นผู้บริหารของบริษัทฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาล แล้วศาลรับพิจารณาอย่างไร  ขณะเดียวกันการยื่นแผนในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าแผนนั้นจะสมบูรณ์หรืออาจจะต้องปรับปรุง เพราะทั้งหมดจะต้องมีกระบวนการไต่สวนจากศาล  โดยมีเรื่องเจ้าหนี้ต่างๆ ซึ่งต้องดูว่าเขายอมรับหรือไม่ หากยอมรับสามารถดำเนินการแต่งตั้งผู้บริหารได้ แต่ในกรณีที่ไม่ยอมรับต้องโหวตในกลุ่มเจ้าหนี้จะดำเนินการอย่างไร”  

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  นายกรัฐมนตรีได้สั่งการกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า กรณีสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ควรเตรียมมาตรการรองรับการเปิดภายในประเทศและระหว่างประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นมีแนวโน้มที่จะดำเนินการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) รายประเทศ  ซึ่งมีกระบวนการการตรวจสอบเกี่ยวกับมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น กรณีที่ประเทศไทยมีการเซ็นสัญญากับประเทศหนึ่ง เราต้องส่งคนของเราไปตรวจสแกนที่ประเทศนั้นๆ ขณะเดียวกันประเทศนั้นๆต้องส่งคนมาตรวจสแกนที่ประเทศเราเช่นกัน เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของสถานทูต แทนที่จะยื่นเรื่องแค่วีซ่า หรือพาสปอต  ทั้งนี้จะเริ่มดำเนินการในประเทศที่มีสถานการณ์เศรษฐกิจดี โดยอยู่ในมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และคงต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19