ทย.เคาะทางเลือกให้ทอท.เช่าบริหารสนามบิน

25 พ.ค. 2563 | 11:34 น.

กรมท่าอากาศยาน เปิดสนามบิน ให้ ทอท. เช่าบริหารสนามบิน ชี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของทั้ง 2 ฝ่าย จ่อชงคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางวิธีการในการให้ ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย. พิจารณา

       หลังจากถกกันมานานถึงแนวทาง และรูปแบบการให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.เข้าบริหารสนามบินของ กรมท่าอากาศยานหรือ ทย. ซึ่งที่ผ่านมา มีตั้งแต่แนวคิด ที่จะโอน 4 สนามบิน คือ สนามบินอุดรธานี สนามบินชุมพร สนามบินสกลนคร และสนามบินตาก แต่พอมา ศักดิ์สยาม ชิดชอบ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทางทอท.ก็เสนอแนวทางที่จะขอจ้างบริหาร สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินตาก
    แต่ล่าสุดทย.พิจารณาแล้วว่าแนวทางโอนสนามบินให้ทอท.เป็นไปไม่ได้ และได้เลือกแนวทางที่ดีที่สุดคือ การให้ทอท.เช่าบริหารสนามบิน ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นสนามบิน แต่ให้ทอท.เลือกได้ และมีการจ่ายผลตอบแทนให้ทย.

ทย.เคาะทางเลือกให้ทอท.เช่าบริหารสนามบิน

      โดยมติดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจาก ล่าสุด “ถาวร เสนเนียม” นั่งหัวโต๊ะ ประชุมกำหนดแนวทางวิธีการในการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน โดย กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งที่ประชุมเลือกแนวทางที่ 3  คือ ให้การเช่าบริหารท่าอากาศยานของทย. จากทั้งหมด 3 แนวทางที่มีการนำเสนอข้อดีและข้อเสีย รวมถึงความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้น

          นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลัง การประชุมกำหนดแนวทางวิธีการในการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน โดย กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานท่าอากาศยานของ ทย. ในเบื้องต้น 3 แนวทาง ได้แก่

       แนวทางที่ 1 โอนท่าอากาศยานของ ทย. วิธีนี้ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน และยกเลิกพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยไปแล้ว

      แนวทางที่ 2 การจ้างบริหารท่าอากาศยานของ ทย. รัฐบาลยังต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาปรับปรุง และอาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ทำให้ ทย. มีผลกำไรลดลงต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่ง ทย. พิจารณาแล้วไม่เหมาะสม

     แนวทางที่ 3 การเช่าบริหารท่าอากาศยานของ ทย. ซึ่ง ทอท. สามารถเช่าท่าอากาศยานด้วยวิธีจัดซื้อจัดจ้างจาก ทย. โดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยกรมธนารักษ์มอบอำนาจการเช่าที่ราชพัสดุให้ ทย. ซึ่งแนวทางนี้ ทอท. จะมีอิสระในการบริหาร พัฒนา ปรับปรุง ซ่อมแซมและบำรุงรักษาท่าอากาศยานของ ทย. ด้วยเงินลงทุนของ ทอท.
      รวมทั้ง ทย. จะได้รับผลตอบแทนจากการเช่าเท่าเดิมที่เคยได้รับโดยนำเข้ากองทุนหมุนเวียน ทย. เพื่อใช้ในการบริหารจัดการท่าอากาศยานอื่น ๆ นอกจากนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลัง โดยนำอัตรากำลังของท่าอากาศยานที่ให้เช่าบริหารไปบรรจุที่ท่าอากาศยานอื่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ ทย. เห็นว่าเหมาะสมที่สุด

ทย.เคาะทางเลือกให้ทอท.เช่าบริหารสนามบิน

       ทั้งนี้ ทย. จะได้นำเสนอแนวทางดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางวิธีการในการให้ ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย.  ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 โดยมี ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ เป็นคณะกรรมการ
      อาทิ กองทัพอากาศ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมบัญชีกลาง กรมธนารักษ์ กรมป่าไม้
      สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่พิจารณาผลประโยชน์และผลกระทบ รวมทั้งแนวทางวิธีการที่เหมาะสมในการให้ ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย. ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและหลักธรรมาภิบาล

     โดยผมได้มอบให้ ทย. และคณะกรรมการฯ พิจารณาโดยยึดหลักกฎหมาย โปร่งใส เป็นธรรม พัฒนาท่าอากาศยานให้ทันสมัยพร้อมให้บริการประชาชน ประโยชน์ของรัฐและประชาชนจะได้รับ และพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบ
        อาทิ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2561
         พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ศึกษาผลดีผลเสียจากองค์กรที่เป็นกลาง รวมถึงบัญชาของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ให้เร่งดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ