"กรมราง" ตั้งทีมสำรวจ "สายสีน้ำเงิน-เขียว-แอร์พอร์ตลิงค์" สกัดโควิด-19

25 พ.ค. 2563 | 08:24 น.

“กรมราง” จัดทีมลงสำรวจสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-เขียว-แอร์พอร์ตลิงค์ หวังติดตามผลกระทบผู้ใช้บริการ เร่งป้องกันโควิด-19 ระบาดต่อเนื่อง

รายงานข่าวจาก กรมการขนส่งทางราง  เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ลงพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า เพื่อสุ่มสำรวจสภาพการบริการผู้โดยสารภายในสถานีและขบวนรถ ในช่วง Peak Hours (เช้าและเย็น) เพื่อติดตามและประเมินปัญหาความหนาแน่นของผู้โดยสาร และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โควิด-19  โดยจัดทีม 7 ทีม จำนวน 17 สถานี เวลา 07.0009.00 น. เพื่อกระจายลงสำรวจเส้นทางต่างๆ ได้แก่ MRT  สายสีน้ำเงิน จำนวน 11 สถานี ได้แก่ สถานีท่าพระ สถานีหัวลำโพง สถานีบางยี่ขัน สถานีสีลม สถานีวัดมังกร สถานีสามย่าน สถานีลุมพินี  สถานีคลองเตย สถานีสวนจตุจักร สถานีลาดพร้าว และสถานีสุทธิสาร  BTS  สายสีเขียว จำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีช่องนนทรี สถานีหมอชิต สถานีห้าแยก และสถานีลาดพร้าว   สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ลาดกระบัง

 

ทั้งนี้จากผลการสำรวจพบว่า ผู้โดยสารที่ใช้บริการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ พร้อมทั้งให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการอย่างดี มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และให้ความร่วมมือในการตรวจวัดอุณหภูมิ ส่วนการบริหารจัดการภายในสถานี ภาพรวมพบว่าหน่วยงานที่ให้บริการขนส่งทางรางมีการดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น การจัดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนเข้าระบบ การจัดเจ้าหน้าที่ในการดูแลบริหารจัดการภายในสถานี รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจในการช่วยกำกับดูแลภายในสถานีให้มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การจัดเจลแอลกอฮอล์ให้บริการผู้โดยสาร การประชาสัมพันธ์แนะนำการใช้บริการและมาตรการต่างๆ การทำความสะอาดพ่นฆ่าเชื้อโรคในขบวนรถและสถานี รวมทั้งการบริหารจัดการเดินรถด้วยความถี่สูงสุดและขบวนรถเสริมเพื่อรองรับผู้โดยสารในช่วงเร่งด่วนเพื่อบริการขนถ่ายผู้โดยสารไม่ให้เกิดความแออัดหรือใช้เวลาในการรอคอยนานเกินไป

ขณะเดียวกันผลการสำรวจความถี่ในการให้บริการ ณ ช่วงเวลาที่ลงสำรวจ สามารถสรุป  Head Way ของแต่ละเส้นทาง ได้ดังนี้ 

1 MRT  สายสีน้ำเงิน ทั้ง 11 สถานี ความถี่ของขบวนรถที่ให้บริการ สูงสุดประมาณ 2 นาที ถึง 3 นาที/ขบวน โดยมีการจัด Group Release บริเวณชั้นออกบัตรโดยสารก่อนเข้าระบบและชั้นชานชาลา ที่สถานีท่าพระ ใช้เวลาประมาณ 3 นาที สถานีลาดพร้าวและสุทธิสาร ใช้เวลาประมาณ 2 นาที

2. BTS  สายสีเขียว ทั้ง 5 สถานี  ความถี่ของขบวนรถที่ให้บริการ ประมาณ 3 นาที 50 วินาที ถึง 4 นาที

3. สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ลาดกระบัง ความถี่ของขบวนรถที่ให้บริการ 3 นาที 20 วินาที/ขบวน และมีระยะเวลาคอยจากการจัด Group Release บริเวณทางขึ้นสถานีและบริเวณชั้นชานชาลา รวม 6 นาที 17 วินาที

 

นอกจากนี้สถานีที่มีความหนาแน่นสูงในช่วง Peak Hours จะต้องมีการจัด Group Release  เพื่อไม่ให้เกิดการแออัดในบางสถานี ได้แก่ สถานีท่าพระ (มุ่งหน้าเตาปูน) สถานีลาดกระบัง  สถานีหมอชิต  สถานีลาดพร้าว และสถานีสุทธิสาร เพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นและสามารถรักษารักษาระยะห่างทางสังคมบนชั้นชานชาลา เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19   ขณะเดียวกันทีมสำรวจพบว่า การบริหารจัดการภายในสถานี ณ วันสำรวจ มีการจัด  Group Release ในบางสถานี เช่น สถานีท่าพระ ลาดพร้าว และสุทธิสาร ซึ่งเป็นสถานีที่มีผู้โดยสารในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าหนาแน่น จำเป็นต้องดำเนินมาตรการดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยใช้เวลาในแถวคอยจนได้เข้าขบวนรถ ใช้เวลาประมาณ 2-6 นาที ซึ่งผู้โดยสารจำเป็นต้องมีการวางแผนการเดินทางและเผื่อเวลาเดินทางเพิ่มขึ้น แต่ไม่ส่งผลกระทบเป็นปัญหามากนัก

 ส่วนสถานีอื่นๆ ผู้โดยสารไม่หนาแน่นมาก มีการเข้าใช้บริการโดยเว้นระยะห่างตามจุดแถวคอยและบริเวณชั้นชานชาลา โดยไม่ต้องจัด Group Release ภายในสถานีและขบวนรถ ภายในสถานีและขบวนรถมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้โดยสาร เช่น การเน้นย้ำให้สวมหน้ากากตลอดเวลาที่ใช้บริการ การงดการพูดคุยภายในขบวนรถ การเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ตามกรมการขนส่งทางรางจะได้มีการสุ่มสำรวจสถานีเพื่อตรวจติดตามผลกระทบผู้ใช้บริการและการดำเนินมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา ผลกระทบต่างๆ ประกอบการประเมินและเสนอแนะแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา