ดาราดังญี่ปุ่นปลุกกระแส ต้านออกกฎหมายผูกขาดพันธุ์พืช

24 พ.ค. 2563 | 08:18 น.

Kou Shibasaki ดาราและนักร้องชื่อดังของญี่ปุ่นทวีตข้อความ กลายเป็นกระแสใหญ่ในญี่ปุ่น จนรัฐบาลต้องเลื่อนการพิจารณากฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์

เพจเฟซบุ๊ก BIOTHAI เผยแพร่ข้อมูล Kou Shibasaki ดารานักร้องวัย 38 ปี ซึ่งมีผลงานทั้งในฐานะนักร้อง นักแสดงภาพยนตร์ และโทรทัศน์ ได้รับรางวัลมากมายและเป็นที่รักของชาวญี่ปุ่นได้ทวีตข้อความสั้นๆ 2 ครั้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 เธอตั้งคำถามว่า “รู้หรือไม่ว่ากฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์กำลังถูกแก้ไข และเรื่องนี้สำคัญอย่างไร” และต่อด้วยทวีตว่า “ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของไวรัสโคโรน่า แต่กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์กำลังถูกแก้ไข ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เกษตรกรญี่ปุ่นตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แต่เกี่ยวข้องกับอาหารบนโต๊ะของพวกเราทุกคน”

 

ทวีตของเธอกลายเป็นเรื่องใหญ่ในสื่อสังคมออนไลน์ กระทรวงเกษตรและป่าไม้ของญี่ปุ่นซึ่งอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ต้องออกมาแก้ตัว โดยอ้างว่าการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช UPOV1991 ให้เข้มข้นมากขึ้นนั้นเพื่อปกป้องเกษตรกรรมของญี่ปุ่น ที่พบว่ามีการนำสายพันธุ์สตรอเบอรี่และเชอรี่ไปปลูกในต่างประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียรายได้มหาศาล และบอกด้วยว่าไม่ต้องกลัวว่าเกษตรกรจะกลายเป็นอาชญากร เพราะพันธุ์พืชที่ขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่นั้นน้อยมากมีไม่ถึง 10% เท่านั้น

 

รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ออกกฎหมายที่ให้สิทธิบริษัทเมล็ดพันธุ์ผูกขาดพันธุ์พืชได้มากขึ้น เช่น การห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ขยายการผูกขาดไม่ใช่เฉพาะพันธุ์พืชเท่านั้นแต่รวมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของพืชด้วย กฎหมายของญี่ปุ่นที่ออกตาม UPOV1991 นั้น ออกมาตั้งแต่ปี 1998 โดยการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เว้นแต่ว่าจะมีประกาศของคณะรัฐมนตรียกเว้นให้เท่านั้น

ดาราดังญี่ปุ่นปลุกกระแส ต้านออกกฎหมายผูกขาดพันธุ์พืช

ในช่วงแรกของการบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลญี่ป่นประกาศยกเว้นให้พืชหลายชนิดสามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ และต่อมาได้ขยายขอบเขตห้ามเกษตรกรญี่ปุ่นเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2016 มีพันธุ์พืชที่เกษตรกรห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ 82 ชนิด และขยายออกไปมากถึง 372 ชนิดเมื่อปีที่ผ่านมา (2019) หลังจากญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำของสมาชิก CPTPP

 

ทั้งนี้เบื้องหลังเกิดจากแรงผลักดันของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของญี่ปุ่นเอง (บริษัทซาคาตะซีดส์ของญี่ปุ่นหนึ่งในสิบบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของโลกที่ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ประมาณ 70% ของโลก) และบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติอื่น การแก้กฎหมายนี้ยังสร้างความชอบธรรมให้ญี่ปุ่นเรียกร้องประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิก CPTPP ให้ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชแบบเดียวกับตนไปพร้อมๆกันด้วย

 

แต่การผลักดันของรัฐบาลและบรรษัทเมล็ดพันธุ์กลับส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยในญี่ปุ่นด้วย เพราะรายการพันธุ์พืชที่รัฐห้ามเกษตรกรไม่ให้เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเริ่มตั้งคำถามว่า การแก้กฎหมายนี้จะเอื้ออำนวยต่อบรรษัทข้ามชาตินอกญี่ปุ่นด้วย เพราะการขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้นต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านเยน จนถึง 10 ล้านเยน ซึ่งมีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์

 

กระบวนการแก้กฎหมายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการค้าเสรีของรัฐบาลพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย(LDP) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยกเลิก "กฎหมายพันธุ์พืชหลัก" ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนจังหวัดต่างๆในการพัฒนาพันธุ์พืชที่บังคับใช้มายาวนานเกือบ 70 ปี ทิ้งไป แล้วออกกฎหมายใหม่ที่บังคับให้สถาบันวิจัยของรัฐต้องแชร์ข้อมูลและเทคโนโลยีให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ จน Masahiko Yamada อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำคัดค้าน"

ดาราดังญี่ปุ่นปลุกกระแส ต้านออกกฎหมายผูกขาดพันธุ์พืช  

 

คำถามของ Shibasaki สอดคล้องกับความรู้สึกของคนญี่ปุ่นที่รู้สึกว่า ระหว่างและหลังการระบาดของไวรัสโคโรน่า การพึ่งพาตนเองทางอาหารและความมั่นคงทางอาหารจะเป็นเรื่องใหญ่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่นที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอ

 

การฉวยโอกาสแก้กฎหมายเพื่อเปิดช่องทางให้มีการผูกขาดสายพันธุ์พืชมากขึ้น ห้ามเกษตรกรญี่ปุ่นเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ และบทลงโทษที่ละเมิดกฎหมายนี้สูงสุดถึงขั้นจำคุก เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับการพยายามพึ่งพาตนเองทางอาหารของญี่ปุ่น

 

ที่ญี่ปุ่น ทวีตของ Shibasaki ส่งผลสำคัญให้กฎหมายฉบับนี้ถูกเลื่อนออกไปก่อน มีการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อลงชื่อคัดค้านการแก้กฎหมายนี้

 

ณ ประเทศไทย ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรน่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลและบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่กำลังผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ซึ่งเงื่อนไขเรื่องสำคัญคือประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตาม UPOV1991 ซึ่งจะทำให้การเก็บรักษาพันธุ์พืช/การคัดเลือกพันธุ์ไปปลูกต่อ กลายเป็นอาชญากรรม

 

เพจ BIOTHAI ระบุตอนท้ายว่า เราทุกคนสามารถ #NoCPTPP #StopUPOV1991 โดยแชร์โพสต์นี้ ส่งต่อข้อความข้างบนนี้ให้คนไทยสัก 1 ใน 4 ของประเทศรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพราะ #เก็บพันธุ์พืชปลูกต่อไม่ใช่อาชญากรรม