"เรียนออนไลน์" มึน-งง-ความล้มเหลว "ครูตั้น"

24 พ.ค. 2563 | 06:57 น.

"เรียนออนไลน์" มึน-งง-ความล้มเหลว "ครูตั้น" หลัง “นิด้าโพล” เผยประชาชนไม่เห็นด้วย

นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการกดปุ่มเรียนออนไลน์เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนเปิดสอนจริงในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้  เล่นเอาบรรดาผู้ปกครอง และ นักเรียนต้องวุ่น กับ การจูนหาช่องการศึกษา หรือ เกิดดราม่าเด็กพาผู้ปกครองไปซื้อโทรศัพท์ ยายพาหลานไปซื้อโทรศัพท์มือถือในราคา 2,000 บาท วันแรกเปิดสอนเน็ต”ล่ม” ไม่เป็นท่า

จนกระทั่ง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ (ครูตั้น) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องออกมาแถลงข่าวสยบดราม่าว่า การทดลองจัดการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัล โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (On-Site) อาจจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เสี่ยงน้อย เช่น จังหวัดที่ไม่มีการติดเชื้อเลย 10 จังหวัด และอีก 49 จังหวัดที่ไม่มีการแพร่ระบาดในรอบ 28 วันที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศธ.จะเข้าไปมีส่วนช่วยดูแลในทุกด้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีทีวี เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม

ศธ.ยืนยันว่าไม่มีนโยบายให้ผู้ปกครองต้องซื้อโทรศัพท์มือถือ ทีวีใหม่ หรือซื้ออุปกรณ์เสริมใด ๆ มาเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว ซึ่งหากครอบครัวใดไม่มีความพร้อมในส่วนนี้ให้แจ้งมาที่โรงเรียน ทางโรงเรียนอาจเปิดเป็นห้องเรียนพิเศษ หรือด้วยวิธีอื่น ๆ ขอให้แจ้งปัญหาเข้ามาเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไข โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งชุมชนและโรงเรียนพร้อมให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มที่

“หลายฝ่ายที่มีข้อกังวลใจเรื่องเรียนออนไลน์ว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่คนคิด การเรียนออนไลน์ เราคาดว่าเด็ก ม.4 ม.5 ม.6 คงต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเราก็สำรวจอยู่ ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ถ้าโรงเรียนไหนมีความสามารถที่จะสอนออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องเรียนทางโทรทัศน์ ตนก็ไม่มีปัญหาอะไร” ซึ่งเด็กคนที่เป็นข่าวอาจจะเป็นหนึ่งในเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่อยากจะสอนออนไลน์กระทรวงฯให้อิสระกับผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียนตัดสินใจแนวทางในการสอน โดยกระทรวงศึกษาธิการเพียงแต่เตรียมเป็นพื้นฐานไว้” นายณัฐพล กล่าว

อย่างไรก็ตามวันแรกที่เปิดสอนเรียนออนไลน์ครูตั้น ลงพื้นที่การเรียนการสอนของเด็กชั้นประถม และเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาเป็นการเรียนการสอนสำหรับเด็กๆ ที่เตรียมเรียนออนไลน์ปรับพื้นฐานจากสถานีโทรทัศน์ช่อง DLTV ของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ครบทั้งช่องสัญญาณดิจิทัลสำหรับรับชม

 "เรียนออนไลน์" มึน-งง-ความล้มเหลว "ครูตั้น"

 "เรียนออนไลน์" มึน-งง-ความล้มเหลว "ครูตั้น"

แต่พลสำรวจของ “นิด้าโพล” เรื่องการเรียนออนไลน์ประชาชนไม่ปลื้ม ผลสำรวจระบุชัดเจนว่า สำหรับการศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.90 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยในทุกระดับ เพราะ เด็กมีความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัด และบางครอบครัวผู้ปกครองไม่มีเวลาคอยดูแลหรือให้คำแนะนำระหว่างเรียนออนไลน์ 

รองลงมา ร้อยละ 29.86 ระบุว่า เห็นด้วยในบางระดับ ร้อยละ 22.05 ระบุว่า เห็นด้วยในทุกระดับ เพราะ เด็กจะได้พัฒนาความรู้ระหว่างรอเปิดเทอม ได้ทบทวนเนื้อหาวิชาที่เรียน และทำให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดโควิด – 19 และร้อยละ 1.19 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ต้องบอกว่านโยบายเรียนออนไลน์ เล่นเอาผู้ปกครอง-นักเรียน”มึน”กันทั่วหน้าและยิ่งตอกย้ำผลสำรวจของประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเรียนออนไลน์ ถือว่านโยบาย”ครูตั้น” เหลวไม่เป็นท่า