สแกนหนี้ครัวเรือนจับเทรนด์วัย GENก่อหนี้

24 พ.ค. 2563 | 05:53 น.

ซีอีโอ เครดิตบูโร สแกนหนี้ครัวเรือน จับเทรนด์วัยGENก่อหนี้ ห่วงผู้มีอายุระหว่าง 30-44ปีภาระหนักหากเจอ Income Shock

ซีอีโอ เครดิตบูโร สแกนหนี้ครัวเรือน จับเทรนด์วัยGENก่อหนี้ พบเจนYกับ Xมีเอ็นพีแอลรวม 6แสนล้านบาท ชี้ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันของธปท.ช่วยชะลอหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ห่วงผู้มีอายุระหว่าง 30-44ปีภาระหนักหากเจอ Income Shock  และเจน Zผู้กู้หน้าใหม่ ภายใน1ปีDigital Lendingหนุนการเติบโต 3เท่า      
ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีตั้งแต่ไตรมาส1ของปี2562มี จำนวน 12.96ล้านล้านบาทสัดส่วน 78.4%ถัดมาไตรมาส 2 จำนวนหนี้ครัวเรือนเพิ่มเป็น  13.08ล้านล้านบาท แต่คงสัดส่วนที่ 78.4%จากนั้นไตรมาส3ปีเดียวกัน จำนวนหนี้ครัวเรือนรวม 13.24ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.9% โดยไตรมาสนี้ พบครัวเรือนกลุ่มเกษตรและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 3หมื่นบาทต่อเดือนเป็นกลุ่มเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้สูง เพราะกระแสเงินสดติดลบสูง ขณะที่กลุ่มอื่น และบางส่วนมีสินทรัพย์ทางการเงินพอรองรับค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งรองรับความผันผวนจากรายได้ปรับลดไม่มาก จึงมีแนวโน้มที่หนี้ครัวเรือนบางประเภทอาจเพิ่มขึ้น  เพราะครัวเรือนส่วนหนึ่งขาดสภาพคล่องจำเป็นต้องกู้มาใช้จ่ายเห็นได้ว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2562 หนี้ครัวเรือนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 79.8% จำนวนรวม 13.47ล้านล้านบาท 

สแกนหนี้ครัวเรือนจับเทรนด์วัย GENก่อหนี้
ต่อมา สิ้นไตรมาส1ของปี 2563  คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ด้อยลงจากสิ้นปี 2562 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การจัดชั้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 496,800ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.05% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.98% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 7.70%  
    นายสุรพล  โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร หรือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เอ็นซีบี) สะท้อนภาพหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในฐานข้อมูลเครดิตบูโรไตรมาส 1ปี2563 ว่า มีจำนวน  11.74ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.98แสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ 3.5 ประกอบด้วย สินเชื่อบ้าน 4.02ล้านล้านบาทขยายตัว 3.7% สินเชื่อรถยนต์ 2.43ล้านล้านบาทขยายตัว  2.8%สินเชื่อส่วนบุคคล 2.13ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.6% สินเชื่อบัตรเครดิต 4.68แสนล้านบาทขยายตัว 4.5% สินเชื่อเบิกเกินบัญชี(โอดี) 5.98แสนล้านบาทหดตัวลง 1.4% และอื่น 2.08ล้านล้านบาทขยายตัว  6.2%(สินเชื่อเกษตร)

หากพิจารณาจากการเปิดบัญชีใหม่ใน 4โปรดักต์ พบว่า  สินเชื่อบัตรเครดิตมีบัญชีเปิดใหม่ 599,408บัญชีมาจากGenY(อายุ 22- 23ปีเกิดหลังปี2540) ประมาณ 3.7แสนบัญชีหรือ 63%  GEN:X (อายุ 41-55ปีเกิดช่วง  2523-2540) 29% สินเชื่อบ้านมีบัญชีเปิดใหม่ 80,494บัญชี (จากทั้งปีก่อนมีบัญชีเปิดใหม่กว่า 3.74แสนบัญชี)  มาจาก GenY 64%  และGen X 29% สินเชื่อส่วนบุคคลมีบัญชีใหม่ 849,894บัญชี  (จากปีก่อนบัญชีเปิดใหม่กว่า 3.7ล้านบัญชี)  ส่วนใหญ่มาจากGenY 50%ประมาณ 4แสนบัญชี  GenX 36% และสินเชื่อรถยนต์ 475,013บัญชี (จากทั้งปีก่อนมีบัญชีเปิดใหม่ 1.6 ล้านบัญชี) มาจากGen 54%  Gen X 35% 

สแกนหนี้ครัวเรือนจับเทรนด์วัย GENก่อหนี้
เมื่อเทียบหนี้ครัวเรือนใน 4โปรดักต์กับคนแต่ละช่วงอายุ  พบว่า คนGen Z ในเมืองไทยเริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุ 22ปี มูลหนี้ 2.5หมื่นล้านบาท เป็นเอ็นพีแอลแล้ว 1,200ล้านบาทหรือ 5%  กลุ่มนี้ทำการค้าขายออนไลน์ GenY มีหนี้ 4ล้านล้านบาทเป็นเอ็นพีแอล2.7แสนล้านบาทหรือ 6.8%  GenXหนี้ 3.7ล้านล้านบาท เป็นเอ็นพีแอล 2.8แสนล้านบาทคิดเป็น 7.4%ทั้ง 2Gen( GenYกับGenXมีเอ็นพีแอลรวม 6แสนล้านบาท) ส่วนBaby Boomer(อายุ 56-74เกิดระหว่างปี2489-2507)มีหนี้ 1.2ล้านล้านบาทเป็นเอ็นพีแอล 8.4หมื่นล้านบาทหรือ 6.8% อย่างไรก็ตามไตรมาสสองผลกระทบจากโควิดจะชัดขึ้น  ซึ่งมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันของธปท.จะมีบทบาทมากขึ้นในการชะลอการเป็นเอ็นพีแอล แต่หลังออกจากมาตรการพักหนี้ปลายปีคงเห็นเอ็นพีแอลซึ่งขี้นอยู่จะต่อมาตรการ
 

ทั้งนี้ จากรายงานของTransUnion เครดิตบูโรของสหรัฐ ระบุว่า กลุ่มGenZ เป็นผู้กู้หน้าใหม่ในแต่ละประเทศโดยในไทย ภายใน1ปีเห็นการเติบโต 3เท่า ซึ่งเป็นผลจาก Digital Lending สิ้นเดือนมีนาคมมียอดสินเชื่อคงค้าง 32,193ล้านบาท วงเงินกู้ 1.7แสนบาทต่อบัญชี ซึ่งเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 24%และกู้ทำธุรกิจ32%ซึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์  
“จากรายงานต่างๆที่รวบรวมพบว่าลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5หมื่นบาท/เดือนจะหนักสุดและผู้มีรายได้ต่ำกว่า 5หมื่นบาท หรือผู้มีอายุระหว่าง 30-44ปีภาระหนักหากเจอ Income Shock  นอกจากนี้ในกลุ่มGenZซึ่งประกอบอาชีพอิสระส่วนใหญ่มีภาระหนี้รถยนต์และกู้เพื่อธุรกิจซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระบบจะช่วยได้เยอะแต่เราห่วงถ้าค้าขายไม่ดีรายที่เป็นเอ็นพีแอลอยู่แล้วจะเป็นเอ็นพีแอลต่อไป”
อย่างไรก็ตามหนี้ของGenZในเครดิตบูโรไทย เติบโตค่อนข้างไวเฉลี่ย 7%ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี2562และเติบโตมากกว่า 200%เมื่อเทียบเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่GenZถือครองสินเชื่อรถยนต์  สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์ สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของGenZ ส่วนเอ็นพีแอลของGenZส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์โดยมีSMกระจุกตัวในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ซึ่งควรระวังเป็นพิเศษ โดยสินเชื่อรถยนต์ คน GenZ เริ่มมาปีที่แล้ว 7-8%เริ่มเป็นหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือSM (Stage2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ) และเป็นเอ็นพีแอล10-12%ส่วนใหญ่ 78-80%ของคน GenZ ไม่ค้างชำระสินเชื่อ