“จุรินทร์-เฉลิมชัย”ชง ครม. จ่ายส่วนต่างประกันรายได้ข้าวโพด

24 พ.ค. 2563 | 04:31 น.

จุรินทร์-เฉลิมชัย ชงครม. เคลียร์ส่วนต่างประกันรายได้ข้าวโพด”วงเงิน669 ล้านบาท ให้เกษตกรที่ตกหล่นกว่า1.5แสนครัวเรือน

“จุรินทร์-เฉลิมชัย”ชง ครม. จ่ายส่วนต่างประกันรายได้ข้าวโพด

 

ตามที่รัฐบาลดำเนินนโยบาย “ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด”เลี้ยงสัตว์และมาตรการบริหารจัดการ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 / 2563  วงเงิน 923 ล้านบาท  ผลการดำเนินงานล่าสุดพบว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเดือนมิถุนายน 2562 บางส่วนตกหล่นจากการได้รับเงินชดเชยการ “ประกันรายได้ข้าวโพด”  เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กับสำนักงบประมาณ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข  กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์  และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า เปิดเผยว่า  สำหรับการแก้ไขปัญหานั้นทางนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน  ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้นำข้อมูลเสนอคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2563 นี้ 

 

ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาการขยายกรอบระยะเวลาและขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมโครงการ ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2562 / 2563 วงเงิน 669  ล้านบาท เพื่อชดเชยสิทธิ์ ส่วนต่างให้แก่เกษตรกรกว่า 1.5 แสนครัวเรือนจากเกษตรกรทั้งหมด 4.5 แสนครัวเรือน  ที่ยังไม่ได้รับ 

 

หลังจากนั้นกระบวนการปกติคือ  ธกส.หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะเป็นผู้โอนเงินส่งตรงถึงมือเกษตรกร โดยผ่านบัญชีของแค่ละรายต่อไป  หากได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอังคารนี้ 

 

 

นางมัลลิกา กล่าวว่า  เรื่องนี้เป็นการติดตามนโยบาย อย่างใกล้ชิด  หลังจากนายจุรินทร์ กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน  ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากเกษตรกรที่ตกหล่น จึงได้ประสานงานทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจทานบัญชีรายชื่อเกษตรกร โดยจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายกรอบระยะเวลาและขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในโครงการนี้ 

 

อย่างไรก็ตามนายจุรินทร์ ได้กำชับให้สำนักงานพาณิชย์แต่ละจังหวัดทำหน้าที่อธิบายสร้างความเข้าใจกับตัวแทนเกษตรกรที่ตกหล่นจากการได้รับเงินชดเชยโครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บางจังหวัดและบางอำเภอ  ตามบัญชีรายชื่อ เช่น เมื่อวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาจังหวัดตากซึ่งมีจำนวนเกษตรกรตกหล่นมากที่สุดกว่า 15,000 รายก็ได้ลงพื้นที่ติดตามและชี้แจง

 

ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรมความถูกต้องให้แก่เกษตรกรและเพื่อให้โครงการประกันรายได้เกษตรกรเดินหน้าได้อย่างประสบผลสำเร็จ